รวมข้อมูล Shinjuku Station | สถานีรถไฟชินจูกุ พร้อมวิธีเดินทาง Cover Page

การเดินทางในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมจากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว คือ รถไฟฟ้าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย รวดเร็วตรงเวลา รถไฟญี่ปุ่นจึงตอบโจทย์การเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในรถไฟญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว คือ สถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku Station) ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองโตเกียวอันเป็นย่านการค้าที่ทรงอิทธิพลแห่งหนึ่งในแดนอาทิตย์อุทัย และด้วยองค์ประกอบจากที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ Shinjuku Station เป็นสถานีรถไฟที่มีคนใช้บริการมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ลำหรับใครที่มีแพลนเดินทางไปเที่ยวชินจูกุกันอยู่ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสถานีรถไฟชินจูกุมาฝากกันค่ะ  

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน
+
Shinjuku Station: สถานีแห่งชีวิตชีวา
Shinjuku Station: จุดเชื่อมต่อรถไฟสายต่าง ๆ
Shinjuku Station: EXIT
Shinjuku Station: จุดขายตั๋ว
Shinjuku Station: ตั๋วประเภทต่าง ๆ
ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย หรือ Pass ของรถไฟ JR East
ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย หรือ Pass ของรถไฟใต้ดิน Subway

Shinjuku Station: สถานีแห่งชีวิตชีวา

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image1

 

Guinness Book of World Records ได้ให้การรับรองว่าสถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku Station) เป็นสถานีรถไฟที่มีผู้คนใช้บริการพลุกพล่านมากที่สุด โดยผู้คนที่ใช้บริการที่ Shinjuku Station นั้นมีมากกว่า 3.5 ล้านคนต่อวันเลยทีเกียว เพราะสถานีแห่งนี้เปรียบเสมือน Hub ที่เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายรถไฟสายต่าง ๆ ที่เดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ด้วยจำนวนชานชาลามากกว่า 50 แห่ง และทางออกกว่า 200 ประตู ทำให้ผู้โดยสารที่แม้จะคุ้นเคยกับการใช้บริการในสถานีรถไฟชินจูกุก็ยังหัวหมุนได้ ยิ่งได้เห็นแผนที่เส้นทางเดินเชื่อมต่อภายใน Shinjuku Station เชื่อว่าคนที่ไม่เคยใช้บริการในสถานีแห่งนี้มาก่อนต้องบอกตรงกันคำเดียวว่า “งง” อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า Shinjuku Station ก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดไปใช้บริการ เพราะไม่ใช่เพียงความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเท่านั้น แต่บริเวณโดยรอบ Shinjuku Station ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจจนหลายคนถือเป็นจุดหมายที่จะต้องมาเยือน  

 

Shinjuku Station: จุดเชื่อมต่อรถไฟสายต่าง ๆ

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image2

 

สถานีรถไฟชินจูกุ เป็นที่ตั้งของสถานีหลัก JR East (Japan Railway) ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าเอกชนซึ่งมีสถานีเพิ่มเติมที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียง และมีเส้นทางรถไฟใต้ดินสายในตัวเมืองด้วย โดยมีรายละเอียดสถานีรถไฟต่าง ๆ ดังนี้

 

รถไฟของ JR East (Japan Railway)

สถานีหลักภายในสถานีชินจูกุ คือ สถานีของ JR East (Japan Railway) ซึ่งบริษัทการรถไฟญี่ปุ่นหรือ JR Railway เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ดูแลกิจการรถไฟซึ่งมีทางรถไฟ 7 สาย ได้แก่ สาย Yamanote (ยามาโนเตะ) ที่วิ่งรอบเมืองเป็นวงกลม สาย Shonan-Shinjuku (โชนัน ชินจูกุ) สาย Saikyo (ไซเคียว) สาย Chuo-Sobu (จูโอ โซบุ) สาย Chuo Rapid (จูโอ แรพพิด) สาย Chuo Main (จูโอ เมน) และสาย Narita Express (นาริตะ เอ็กซ์เพรส)  รถไฟเหล่านี้ให้บริการนำพาผู้โดยสารเดินทางไปทั่วโตเกียว และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สาย Shonan-Shinjuku ไปยังโยโกฮาม่า และคามาคุระ สาย Saikyo ไปยังคาวาโกเอะ สาย Narita Express ไปสนามบินนาริตะ สาย Chuo Main ไปภูเขาทาคาโอะ และสาย Yamanote วิ่นวนรอบใจกลางกรุงโตเกียวเป็นวงกลม เป็นต้น

 

รถไฟของ Keio (เคโอ)

รถไฟของ Keio เป็นบริษัทรถไฟเอกชน วิ่งผ่านฝั่งตะวันตกของโตเกียวซึ่งเชื่อมกับพื้นที่ยอดนิยม เช่น สถานี Hachioji (ฮาชิโอจิ) สถานี Tama Center (ทามะ เซ็นเตอร์) และสถานี Takaosanguchi (ทาคาโอะซังกุจิ) มีชานชาลา Keio สามแห่งซึ่งรองรับผู้โดยสารได้กว่า 750,000 คนต่อวัน

 

รถไฟฟ้า Odakyu (โอดะคิว) สาย Odawara (โอดาวาระ)  

รถไฟฟ้า Odakyu สาย Odawara เป็นเส้นทางโดยสารซึ่งวิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่จังหวัดคานากาว่า ซึ่งมีทั้งรถไฟปกติ (Local จอดทุกสถานี) รถไฟด่วน และรถไฟด่วนพิเศษให้บริการเป็นประจำ สาย Odawara เป็นเส้นทางยอดนิยมสำหรับเดินทางไปท่องเที่ยวฮาโกเน่หรือโอดาวาระ โดยมีขบวน Odakyu Romance Car ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งชินคันเซ็น

 

รถไฟใต้ดินของ Toei (โทเอ)

รถไฟฟ้าใต้ดินของ Toei มีสองสาย ได้แก่ สายแรก Toei Shinjuku (โทเอชินจูกุ) เดินทางไปยัง Ichigaya (อิชิงายะ) Jimbocho (จิมโบโช) Ojima (โอจิมะ) และ Moto-Yawata (โมโตะยะวะตะ) และสายที่สอง Toei Oedo (โทเอโอเอโดะ) ซึ่งวิ่งไปยัง Roppongi (รปปงงิ) Daimon (ไดมง) Tochomae (โทโชมาเอะ) และ Hikarigaoka (ฮิคาริกาโอกะ)

 

รถไฟใต้ดินสาย Marunouchi (มารุโนะอุจิ) ของ Tokyo Metro (โตเกียวเมโทร)

สถานีแยกเดี่ยวนี้เชื่อมต่อกับบริการรถไฟใต้ดินของเมือง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้ถนนหนทางต่าง ๆ ในโตเกียว สาย Marunouchi เชื่อมต่อย่านธุรกิจของสถานีโตเกียวและให้บริการที่มีความถี่มากที่สุดในโตเกียว โดยรถไฟจะวิ่งทุกๆ 1 นาที 50 วินาทีในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

 

Shinjuku Station: EXIT

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image3

 

ภายใน Shinjuku Station นอกจากจะมีรถไฟไว้บริการอย่างมากมายแล้ว เส้นทางออกก็ยังเป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อนเพราะมีจำนวนมากไม่แพ้กัน หากนักนักท่องเที่ยวต้องการใช้เส้นทางออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือต่อรถไฟหรือรถโดยสารประเภทอื่น ๆ ให้ใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการแบ่งพื้นที่ทางออกเป็นทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ เพื่อไปยังจุดหมายในแต่ละโซนได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดจุดหมายที่เราจะไปอยู่ในทิศทางใดให้ไปออกทางนั้น เช่น  

พื้นที่ฝั่งตะวันออกของสถานีรถไฟชินจูกุ เป็นเส้นทางไปสู่ย่านการค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารต่าง ๆ และยังมีสถานี Seibu-shinjuku (เซบุ ชินจูกุ) รวมถึงสถานี Shinjuku-sanchoume (ชินจูกุซันโจเมะ) อยู่ในพื้นที่อีกด้วยนักท่องเที่ยวที่ต้องการออกทางสถานี JR ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกให้สังเกตป้าย Central East Exit หรือ East Exit

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของสถานีรถไฟชินจูกุ เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงโตเกียว ออฟฟิศสำนักงาน บริษัท และโรงแรมต่าง ๆรวมถึงสถานีรถไฟสาย Odakyu (โอดะคิว) สาย Keio (เคโอ) และโตเกียวเมโทร สาย Marunouchi (มารูโนอูจิ) นักท่องเที่ยวที่ต้องการออกทางสถานี JRในพื้นที่ฝั่งตะวันตกให้สังเกตป้าย Central West Exit หรือ West Exit

พื้นที่ฝั่งใต้ของสถานีรถไฟชินจูกุ มีทั้งบัสเทอร์มินอล หรือรถบัสโดยสารความเร็วสูง สถานที่ช็อปปิ้ง และอื่น ๆ รวมทั้งสามารถขึ้นรถไฟสาย Odakyu (โอดะคิว) สาย Toei-oeido (โทเอ โอเอโดะ ) สายToei-shinjuku (โทเอ ชินจูกุ ) และสาย Keio (เคโอ) ได้ในพื้นที่นี้ นักท่องเที่ยวที่ต้องการออกทางสถานี JR ในพื้นที่ฝั่งใต้ให้สังเกตป้าย South Exit, South East Exit, New south ticket gate, Koshu-Kaido gate และ Miraina Tower gate

 

Shinjuku Station: จุดขายตั๋ว

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image4

 

นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟภายในสถานีรถไฟชินจูกุ สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ผ่านช่องทาง ดังนี้

  1. ซื้อบัตรโดยสารที่สถานี ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร (Ticket Office) ซึ่งจะตั้งอยู่ตามสถานีใหญ่ ๆ เราสามารถซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานได้โดยตรง ข้อเสีย คือ อาจจะต้องเข้าแถวรอนาน พนักงานบางสถานีอาจจะใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่อง
     
  2. ซื้อบัตรโดยสารที่ JR Ticket Office (Midori-no-Madoguchi) ซึ่งจำหน่ายตั๋วโดยสาร ตั๋วด่วนพิเศษ และตั๋ว Green Cars ที่นั่งแบบจองล่วงหน้า (Reserved Seat) ของรถไฟด่วนพิเศษ และ Shinkansen ทั้งหมดทั่วประเทศ
     
  3. ซื้อบัตรผ่านเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร สถานีรถไฟชันคันเซ็นจะมีเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารแบบอัตโนมัติ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อได้ทั้งบัตรแบบ reserved seat, non-reserved seat และ green seat ข้อดี คือ เครื่องอัตโนมัติมีเมนูภาษาอังกฤษให้เลือกใช้ด้วย และไม่ค่อยมีคนมาต่อแถวมากนัก ส่วนข้อเสีย คือ ต้องทำหลายขั้นตอนซักหน่อย นักท่องเที่ยวควรศึกษาเส้นทางเดินรถ จุดหมายปลายทาง ประเภทที่นั่งเตรียมไว้ก่อน  
     
  4. ซื้อบัตรผ่านเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วระยะใกล้ได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งมีเมนูที่รองรับภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สามารถจ่ายด้วยธนบัตรได้เลย
     
  5. เครื่องจำหน่ายตั๋วที่นั่งแบบจองล่วงหน้า (Reserved Seat Ticket) นักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วระยะกลางและระยะไกลได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วที่นั่งแบบจองล่วงหน้า (Reserved Seat Ticket) ซึ่งมีเมนูรองรับภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยนอกจากจะรับเงินสดแล้วยังรับบัตรเครดิตด้วย  

 

Shinjuku Station: ตั๋วประเภทต่าง ๆ  

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image5

 

  1. ตั๋วรถไฟรายเที่ยวหรือเที่ยวเดียว นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางด้วยตั๋วเที่ยวเดียว สามารถซื้อได้ที่จุดจำหน่ายตั๋ว หรือตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ โดยค้นหาสถานีปลายทางที่ต้องการ แล้วชำระเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ จากนั้นจะได้ตั๋วกระดาษเพื่อใช้สอดผ่านเครื่องกั้นบริเวณสถานีต้นทางและปลายทาง  
     
  2. บัตรโดยสารแบบเติมเงิน เช่น บัตร Suica ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งรถไฟ รถประจำทาง หรือใช้สำหรับการจับจ่ายซื้อของกับร้านสะดวกซื้อในประเทศญี่ปุ่น  และยังมีบัตร PASMO สำหรับโดยสารรถไฟใต้ดินและรถบัส รวมทั้งชำระค่าสินค้าที่ร้านค้าและตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญได้ บัตรมีจำหน่าย ณ ตู้จำหน่ายตั๋ว สำนักงานสถานี และสำนักงานบัตรโดยสารประเภทพาส ของโตเกียวเมโทรทุกสถานี นักท่องเที่ยวจะสะดวกตรงไม่ต้องต่อคิวซื้อตั๋ว เวลาใช้ก็แค่แตะบัตรผ่านประตูอัตโนมัติเท่านั้น
     
  3. ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย หรือ Pass ข้อดี คือ คุ้มค่าซึ่งเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางบ่อย แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยวต่อวัน ซึ่งการใช้งานอาจจะแตกต่างกันระหว่างรถไฟ JR East (Japan Railway) กับรถไฟใต้ดิน ลองมาดูว่ามีอะไรบ้าง  

 

ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย หรือ Pass ของรถไฟ JR East

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image6

 

  1. บัตร Tokyo Metropolitan District Pass เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 1 วัน ราคา 750 เยน ซึ่งเป็นตั๋วแบบเหมาจ่ายราคาถูกที่สุดของรถไฟ JR ในโตเกียว โดยสามารถใช้บริการรถไฟ JR ได้ทั่วทั้งโตเกียวรวมถึงเขตชานเมือง โดยเฉพาะสถานีสำคัญอย่างโตเกียว ชินจุกุ อูเอโนะ และอากิฮาบาระ เป็นต้น
     
  2. บัตร Tokyo Wide Pass เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 3 วัน ราคา 10,000 เยน ซึ่งใช้กับรถไฟ JR ในโตเกียว และพื้นที่ภายนอกโดยรอบโตเกียว เช่น ภูเขาไฟฟูจิ รวมทั้งใช้เดินทางไป-กลับจากสนามบินนาริตะ เมืองชิบะ โยโกฮาม่า และเมืองอื่น ๆ รวมทั้งใช้กับรถไฟชินคันเซ็นได้

 

ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย หรือ Pass ของรถไฟใต้ดิน Subway

 

Shinjuku Station (สถานีรถไฟชินจูกุ) Image7

 

  1. บัตร Tokyo 1-Day Ticket เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 1 วัน ราคา 1,590 เยน ใช้ได้ทุกระบบคมนาคมในโตเกียวทั้ง Metro / Toei / รถบัสสาธารณะ และยังใช้งานกับรถไฟ JR ได้ฟรีตลอดทั้งวัน  
     
  2. บัตร Tokyo Subway Ticket เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบชั่วโมงที่มีให้เลือกตั้งแต่ 24 / 48 / 72 ชั่วโมง ในราคา 800 / 1,200 / 1,500 เยน ตามลำดับ โดยบัตรนี้สามารถใช้บริการรถไฟในกลุ่ม Subway ได้ทุกสายในโตเกียว 
     
  3. บัตร One-day Ticket เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 1 วัน ราคา 900 เยน ซึ่งเดินทางได้เหมือนกับบัตร Tokyo Subway Ticket ทุกประการ แต่เปลี่ยนจากการนับชั่วโมงเป็นนับวัน และมีให้เลือกเพียงแบบเดียวเท่านั้น
     
  4. บัตร Tokyo Metro 24-hour Ticket เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 24 ชั่วโมง ราคา 600 เยน ซึ่งมีราคาถูกที่สุดในบรรดาตั๋วเหมาจ่ายของกลุ่มรถไฟ Subway แต่จะเดินทางได้เฉพาะรถไฟ Metro เท่านั้น ไม่สามารถใช้บริการกับรถไฟ Toei ได้
     
  5. บัตร Toei One-day Pass เป็นตั๋วเหมาจ่ายแบบ 1 วัน ราคา 700 เยน และมีคุณสมบัติตรงข้ามกับบัตร Tokyo Metro 24-hour Ticket โดยใช้สำหรับรถไฟ Toei เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับรถไฟ Metro ได้

 

สรุปสถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku Station) แม้จะเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และย่านของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่ด้วยปริมาณผู้โดยสารจำนวนมาก จำนวนรถไฟหลากหลายเส้นทาง อีกทั้งชานชาลา และเส้นทางเข้าออกที่สถานีแห่งนี้ก็จำชื่อไม่หมดแน่  สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ควรศึกษารายละเอียดให้พร้อม และหากต้องการตัวช่วยเพื่อการเดินทางที่สะดวกมากยิ่งขึ้น ขอแนะนำว่าควรโหลดแอพพลิเคชั่นสำหรับการเดินทางไว้เป็นตัวช่วยยามฉุกเฉิน เช่น Google Map, Tokyo Subway Navigation, Hyperdia, Jr east train info และ Japan Transit Planner -Norikae Annai- จะทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้นค่ะ 

Powered by