พาชม พระราชวังหลวงพระบาง หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศลาว Cover Page

หลวงพระบาง คือเมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว ตัวเมืองตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขง และแม่น้ำคาน ในบริเวณที่แม่น้ำทั้งสองไหลมาบรรจบกันถูกเรียกว่าปากคาน ความน่าสนใจของเมืองนี้คือเคยเป็นเมืองหลวงของลาวมาก่อน ที่นี่จึงมีโบราณสถานสำคัญๆ หลายแห่ง รวมถึงพระราชวังหลวงพระบางด้วย และเป็นเมืองที่องค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกโลกอีก

ประวัติความเป็นมาของหลวงพระบาง ที่นี่เคยเป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรล้านช้าง เดิมเรียกว่าเมืองซวา (ออกเสียงว่า ซัว) แต่ใน พ.ศ. 1300 ขุนลอซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของลาวได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็นเชียงทอง ต่อมาในสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ. 1896 - พ.ศ. 1916) พระองค์และพระบิดาเคยต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ที่กัมพูชามาก่อน เมื่อท่านสามารถรวบรวมกำลังพลกลับมากอบกู้ราชบัลลังก์ได้ พระองค์ก็ได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้นมาใหม่ และตั้งให้เมืองเชียงทองเป็นราชธานีมีชื่อเรียกว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตอุตตมราชธานี ต่อมาในสมัยพระโพธิสารราชเจ้า พระองค์ได้อาราธนาพระบางจากเมืองเวียงคำมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงทอง และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่หลวงพระบางมาจนถึงปัจจุบัน และเพราะที่นี่เคยเป็นราชธานีเก่าจึงมีพระราชวังหลวงพระบาง ที่เคยเป็นที่พำนักของพระมหากษัตริย์จนกระทั่งประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองอีกด้วย

ในปัจจุบันพระราชวังหลวงพระบางถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของหลวงพระบาง ตัวพระราชวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส เพราะได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ในสมัยของพระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ โดยเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2447 แต่แล้วเสร็จในสมัยของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และสืบทอดมาจนถึงเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของลาว ลักษณะของพระราชวังหลวงพระบางเป็นตัวอาคารชั้นเดี่ยวมุงด้วยกระเบื้องที่ถูกยกพื้นสูง ตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบยุโรปผสมผสานล้านช้าง และได้ถูกปรับให้กลายเป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง ที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุ และของมีค่าของราชวงศ์ลาว อย่างราชบัลลังก์ ธรรมาสน์ วัตถุโบราณ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้าชีวิต รวมถึงพระพุทธรูปโบราณ และของขวัญจากต่างประเทศ

 

ความน่าสนใจของพระราชวังหลวงพระบาง 

 

พระราชวังหลวงพระบาง Image1

 

คือ อาคารที่ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ อาคารส่วนกลางมีมุขยื่นออกมา ที่มีหน้าบันไดประดับด้วยรูปปั้นช้าง 3 เศียร ที่มีฉัตรกางอยู่ตรงกลางด้านบน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรลาวล้านช้างมาก่อน เมื่อตรงเข้าไปจะพบกับห้องฟังธรรมของเจ้ามหาชีวิต และท้องพระโรงในอดีต อาคารด้านหลังท้องพระโรงของพระราชวังหลวงพระบางมีลักษณะเป็นอาคารที่มีหลังคาเป็นยอดปราสาทเพียงหลังเดียว จึงแลดูเด่นเป็นสง่าชัดเจน ตัวอาคารยอดปราสาทนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนปีกทางด้านซ้ายมือเคยถูกใช้เป็นห้องรับแขกของพระมเหสีมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันใช้จัดแสดงของขวัญจากประเทศต่างๆ ส่วนปีกทางด้านขวาเคยเป็นห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิตที่สวยงามมาก เพราะตกแต่งในรูปแบบของศิลปะฝรั่งเศสและลาว แลดูร่วมสมัย โดดเด่นด้วยภาพเขียนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ ซึ่งเขียนขึ้นในปีพ.ศ. 2473 เป็นภาพของพระราชวังหลวงพระบางที่แสดงถึงฮีตครอง หรือจารีตประเพณีของชาวลาวอดีต ตามช่วงเวลาต่างๆ ของวัน และเป็นที่ตั้งของรูปหล่อแบบครึ่งองค์ของเจ้ามหาชีวิตอุ่นคำ,  เจ้ามหาชีวิตสักรินทร์, เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งหล่อมาจากประเทศฝรั่งเศสทั้งสิ้น

ห้องสุดท้ายของปีกด้านขวาที่พระราชวังหลวงพระบางได้ถูกจัดให้เป็นห้องพระ ซึ่งใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางที่ศักดิ์สิทธิ์  องค์พระพุทธรูปมีลักษณะประทับยืน และยกพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างขึ้น โดยพระองค์ได้หันฝ่าพระหัตถ์ออกทั้งสองข้าง ชาวลาวเรียกว่า ปางประทานอภัย ส่วนคนไทยเรียกว่า ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปในศิลปะเขมร หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ 90% ซึ่งมีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม มีความสูงประมาณ 40 – 50 ซม. ความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้คือเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงพระบางที่มีความหมายว่าเมืองที่มีพระบางประดิษฐานอยู่ ในทุกๆ วันขึ้นปีใหม่ของลาว (ตรงกับวันสงกรานต์ของไทย) ทางเจ้าหน้าที่ของพระราชวังหลวงพระบางจะมีการอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานที่วัดใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและสักการะบูชาท่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวหลวงพระบางเนื่องในวันปีใหม่ นอกจากนี้ภายในห้องพระของพระราชวังหลวงพระบางยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปนาคปรกที่สลักขึ้นมาจากหิน ด้วยรูปแบบศิลปะเขมรอีก 4 องค์ และยังมีการจัดแสดงกลองมโหระทึกอีกหลายใบ ซึ่งยังไม่ทราบที่มาอย่างแน่ชัด และยังมีพวงมาลาที่สมเด็จกนิษฐาฐิราชฯ เคยถวายเป็นพุทธบูชาไว้เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนประเทศลาว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2533

วิธีการเดินทางมายังพระราชวังหลวงพระบาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าจากตัวเมืองมาได้เลย เนื่องจากพระราชวังหลวงพระบางตั้งอยู่ใจกลางเมืองพอดี อยู่ตรงข้ามกับพระธาตุภูษี มีเวลาเปิดให้เยี่ยมชม 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าเวลา 8.00 น. - 11.30 น. ทางพระราชวังหลวงพระบางจะปิดขายบัตรเข้าชมในช่วงเช้าเวลา 11.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. - 16.00 น. ทางพระราชวังหลวงพระบางจะปิดขายบัตรเข้าชมในช่วงบ่ายเวลา 15.30 น. แนะนำให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย กางเกงหรือกระโปรงต้องมิดชิดและคลุมถึงเข่า หากไม่มีสามารถเช่าชุดที่ด้านหน้าพระราชวังหลวงพระบางได้ บัตรเข้าชมมีราคา 30.000 กีบ

[ พาเดินตลาดหลวงพระบาง  ชมสินค้าและอาหารพื้นเมืองของชาวลาว ]

Powered by