เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) เทศกาลแด่ผู้ล่วงลับของคนญี่ปุ่น Cover Page

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) เป็นเทศกาลในญี่ปุ่นที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นเทศกาลที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนา ในการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับ และความเชื่อที่ว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลับมาเยี่ยมเยียนลูกหลานในช่วงเทศกาลดังกล่าว หากจะกล่าวไปแล้วเทศกาลญี่ปุ่นก็คล้ายกับเทศกาลและประเพณีที่ปฏิบัติในเมืองไทย เช่น สารทไทย และสารทจีน ซึ่งจะเป็นช่วงของเทศกาลต้อนรับผู้ล่วงลับกลับมาจากปรโลก เพื่อมาเยี่ยมเยียนลูกหลาน เสร็จแล้วก็เดินทางกลับไปสู่ที่ที่จากมา ซึ่งความคิดความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเหล่านี้ ยังก่อให้เกิดเทศกาลอื่น ๆ ตามอีกหลายเทศกาลด้วย

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน
+
“เทศกาลโอบ้ง” ช่วงเวลาแห่งการระลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ
กิจกรรมในเทศกาลโอบ้ง
เที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลโอบ้ง

“เทศกาลโอบ้ง” ช่วงเวลาแห่งการระลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ

 

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) Image1

 

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) เกิดขึ้นจากการรับความเชื่อในทางพุทธศาสนา โดยเชื่อกันว่ามีเรื่องราวมาจากพระสูตรอุลัมพนสูตร (Urabon-kyo) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระโมคคัลลานะอัครสาวกได้บำเพ็ญสมาธิ และนิมิตเห็นมารดาที่อยู่ในนรกภูมิต้องทุกขเวทนา จึงมาปรึกษาพระพุทธองค์ว่าต้องทำอย่างไร มารดาของตนจึงจะพ้นจากความทุกข์และมีความสุขได้ พระพุทธองค์ได้สอนให้พระโมคคัลลานะทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับมารดา และควรอุทิศส่วนกุศลให้เหล่าสรรพสัตว์ต่าง ๆ ที่ยังวนเวียนอยู่ในความทุกข์ด้วย เรื่องราวของพระโมคคัลลานะทำให้เกิดเทศกาลโอบ้งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และในอีกด้านหนึ่งก็คือการแสดงออกถึงความระลึกถึงเหล่าบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบุพการี ผ่านพิธีกรรมการต้อนรับ เลี้ยงอาหารคาวหวานให้อิ่มหนำสำราญ  และส่งกลับสู่ปรโลกอีกครั้ง

 

กิจกรรมในเทศกาลโอบ้ง

 

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) Image2

 

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) มีการจัดงานโดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับพื้นที่จัดงาน โดยคนส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นจะจัดงานในวันที่ 13 - 15 สิงหาคม เรียกว่า เทศกาลโอบ้งเก่า (Kyubon) และบางพื้นที่ เช่น โตเกียว เมืองเก่าของคานาซาว่า และชิซูโอกะ จะจัดในวันที่ 13 - 16 กรกฎาคม เพราะจะคิดเวลาตามปฏิทินแบบจีน เรียกว่า เทศกาลโอบ้งใหม่ (Niibon) และถึงแม้ว่าเวลาในการจัดเทศกาลจะแตกต่างกันไปบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ แต่โดยรูปแบบพิธีกรรมจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยรวมจะจัดงานประมาณ 3-4 วัน ซึ่งจะเป็นวันหยุดยาวที่ผู้คนพากันหยุดงานและใช้เวลาร่วมกับครอบครัวอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าเราแบ่งเวลาคราว ๆ ในการทำพิธีกรรมก็จะมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

 

เทศกาลโอบ้งวันแรก หรือ “มุคาเอะบิ” คือ วันที่ลูกหลานที่กลับมาจะช่วยกันจัดเตรียมสิ่งของ  

ในตอนเย็นจะมีการจุดไฟต้อนรับดวงวิญญาณกลับเข้าบ้าน จัดขึ้นตามคติความเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษที่ไปติดอยู่ในภพภูมิอื่นเสียนาน อาจจะจำทางกลับบ้านไม่ถูก ลูกหลานจึงต้องเตรียมสัญลักษณ์เป็นสื่อนำทางให้เหล่าดวงวิญญาณได้เดินทางมาโดยสะดวก ซึ่งก็มีวิธีแตกต่างกันบ้างในแต่ละครอบครัว เช่น การแขวนตะเกียงไฟไว้ที่หน้าบ้าน หรือเผากิ่งกัญชงเพื่อให้ควันเป็นสื่อนำทางให้บรรพบุรุษ

 

เทศกาลโอบ้งวันที่สอง หรือ“โอฮาคามาอิริ” จะเป็นการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน ดอกไม้ไป

เคารพหลุมศพของบรรพชน ลูกหลานที่เดินทางกลับบ้านจะรวมตัวกันไปแล้วยังสุสานหรือหลุมศพของบรรพบุรุษ ช่วยกันทำความสะอาด ตกแต่งสุสานให้สวยงาม ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สะอาด ถ้ามีเวลาก็จะไปทำบุญที่วัดหรือศาลเจ้าที่เคารพนับถือเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ และสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับตนเองด้วย และสำหรับคนที่จัดงานที่บ้านก็จะทำกิจกรรมคล้ายกันเพียงเปลี่ยนจากสุสานเป็นป้ายวิญญาณหรือที่เก็บอัฐิของบรรพชนแทน  และมีการวางโชเรียวอุมะ คือ สัญลักษณ์แทนพาหนะที่ทำด้วยแตงกวาเป็นตัวแทนม้า และใช้มะเขือม่วงเป็นตัวแทนวัว โดยสมมุติว่าม้าแตงกวาเป็นพาหนะพาบรรพบุรุษที่ล่วงลับกลับมาบ้านด้วยความรวดเร็ว และวัวมะเขือม่วงเป็นพาหนะพาผู้ล่วงลับกลับไปสู่ปรโลกแบบไม่รีบร้อน การสร้างม้าและวัวจะใช้ผักสวนครัวอย่างแตงกวาและมะเขือม่วงซึ่งเป็นผักที่หาได้ง่ายในฤดูร้อน และใช้ก้านกัญชงหรือตะเกียบมาต่อเป็นขาทั้ง 4 ข้างหลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว ญาติพี่น้องก็จะรวมตัวกันรับประทานอาหาร พบปะพูดคุยกัน เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้กลับมาอบอุ่นอีกครั้ง

 

เทศกาลโอบ้งวันสุดท้าย หรือ โอคุริบิ (Okuribi) คือ การส่งวิญญาณบรรพชนกลับสู่ปรโลก  

โดยจะมีการจุดไฟนำทาง (โอคุริบิ) ให้ไฟเป็นสัญลักษณ์ในการนำทางเหมือนตอนเชิญผู้ล่วงลับกลับมาบ้าน ในบางพื้นที่มีประเพณีโชโรนากาชิ หรือลอยโคมในแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล บางพื้นที่ใช้การลอยเรือส่งวิญญาณซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ อย่างเช่นในจังหวัดนางาซากิ จังหวัดคูมาโมโตะ และจังหวัดซางะ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสัญลักษณ์ในการส่งวิญญาณบรรพชนให้กลับถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ  

 

เที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลโอบ้ง

 

เทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) Image3

 

ในช่วงเทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) จะมีการแสดงเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงที่มีชื่อเสียงมาก คือ รำวงบงโอโดริ ดั้งเดิมเชื่อกันว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ความยินดี และต้อนรับการกลับมาของวิญญาณบรรพชนที่เดินทางกลับมายังโลก แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นงานรื่นเริงที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมสนุกกันได้ ท่าเต้นเป็นท่าง่ายๆ แม้ไม่มีทักษะการเต้นใด ๆ ก็เต้นตามได้ ผู้คนจะตั้งแถวเป็นวงกลมรอบเวที มีเสียงดนตรีจากกลองไทโกะประกอบการเต้นรำ นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาวต่อเนื่องของประเทศญี่ปุ่นยังมีเทศกาลต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปสัมผัสได้อีกหลายเทศกาล แต่แนะนำว่าควรวางแผนการเดินทางให้ดีเพราะในช่วงนี้ผู้คนต่างเดินทางกันกลับบ้าน ทำให้การจราจรจึงค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ สำหรับเทศกาลอื่น ๆ ที่นำมายกตัวอย่าง มีดังนี้

  • เทศกาลฮาจิมังแห่งฟุคากาวะ (Fukagawa Hachiman Matsuri) จัดขึ้นทุกปี ระหว่างวันที่ 11-15 สิงหาคม ในจังหวัดยามานาชิ จังหวัดนางาโน่ และจังหวัดนีงาตะ จัดเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่แห่งเอโดะ (Edo Sandai Matsuri) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเทศกาลหลักซึ่งจะจัดเพียงสามปีครั้ง มีเกี้ยวหาบมิโคชิขนาดน้อยใหญ่มากมายประมาณ 120 เกี้ยวค่ะ
     
  • เทศบาลระบำอาวะโอโดริแห่งโทคุชิมะ (Tokushima Awa-odori) จัดขึ้นในช่วงวันที่ 12-15 สิงหาคม ในอำเภอเมืองโทคุชิมะ เทศกาลอาวะโอโดริเป็นงานที่ผู้คนแต่งกายในชุดแบบญี่ปุ่น เช่น ชุดยูกาตะกับรองเท้าเกตะ ไปเต้นระบำกันในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง หากคุณสนใจในงานเทศกาลเต้นระบำขนาดใหญ่กับผู้คนในชุดกิโมโน  
     
  • เทศกาลโคมไฟแห่งยามากะ (Yamaga Toro Matsuri) จัดขึ้นในวันที่ 15-16 สิงหาคม ในอำเภอยามากะ จังหวัดคุมาโมโตะ เทศกาลนี้คุณสามารถเพลิดเพลินกับการเต้นระบำของเหล่าหญิงสาวในชุดยูกาตะซึ่งติดโคมไฟโทโร (Toro) ไว้ที่ศีรษะ โคมไฟที่เรียกว่าโทโรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณในญี่ปุ่นค่ะ ทิวทัศน์ที่สร้างขึ้นโดยแสงของโคมไฟบนศีรษะของนักระบำนั้นก็น่าดึงดูดอย่างยิ่ง  
     
  • เทศกาล โกะซัน โนะ โอคุริบิ (Gozan no okuribi) จัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคมที่เกียวโต มีการจุดกองไฟโอคุริบิ (Okuribi) เพื่อส่งวิญญาณบนภูเขาทั้งห้า ได้แก่ Higashiyama Nyoigatake, Matsugasaki Nishiyama / Higashiyama, Nishigamo Funeyama, Daikitayama และ Mandarayama ซึ่งล้อมรอบเกียวโตเป็นรูปตัวอักษร 大 (ได) จัดเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ และได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

 

ท้ายที่สุดแล้วเทศกาลโอบ้ง (Obon Festival) ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาที่เราระลึกถึงญาติผู้ล่วงลับเท่านั้น แต่ในอีกมิติหนึ่งสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เทศกาลญี่ปุ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานยังเป็นฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนสังคม เพราะทำให้ผู้คนที่ต้องจากถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพในต่างถิ่น ได้ใช้โอกาสจากเทศกาลนี้กลับมารวมตัวกันในครอบครัว ได้ไถ่ถามพุดคุย  ได้ปฏิบัติดีต่อกัน ได้เฉลิมฉลองด้วยกัน และความงดงามของเทศกาลยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนผ่านการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

Powered by