มาทำความรู้จักกับบรรยากาศ ตม. ญี่ปุ่น
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเดินทางไปญี่ปุ่น หรืออาจจะเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ด่านแรกเลยที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้ในแทบทุกประเทศรวมถึงญี่ปุ่นด้วย ก็คือ ตม. หรือ ตรวจคนเข้าเมืองนั่นเอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะมีหน้าที่ในการตรวจบุคคลที่เดินทางเข้าไปในประเทศว่ามีการเข้าเมืองมาอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อเราใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ก็ต้องเดินทางมาเพื่อท่องเที่ยว ไม่มีแนวโน้มจะแอบแฝงลักลอบเข้าประเทศเพื่อทำงานหรืออื่นๆ ดังนั้น ด่าน ตม. แทบทุกประเทศก็จะมีบรรยากาศคล้ายๆ กัน นั่นก็คือมีจุดให้ไปยืนต่อคิว เพื่อตรวจเอกสารการเข้าประเทศ โดย ตม. ญี่ปุ่น จะแบ่งเป็นช่องสำหรับคนญี่ปุ่น และช่องสำหรับชาวต่างชาติ มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในจุดตรวจ (ลักษณะเหมือนตู้ทางด่วน) และจะขอพาสปอตเราไปเช็คในระบบ, ตรวจแสกนลายนิ้วมือ นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้าง และแนะนำให้เรามองกล้องถ่ายรูป รวมทั้งสอบถามข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเช็คว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวจริงหรือไม่ หากไม่มีสิ่งที่เจ้าหน้าที่ติดใจสงสัย ก็จะประทับตรา Welcome to Japan เป็นอันเสร็จกระบวนการ แต่หากเจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่น มีความรู้สึกว่าบุคคลนี้น่าสงสัย หรือมีเอกสารที่ไม่ครบถ้วน ไม่เรียบร้อย ก็อาจจะเรียกสอบถามขอดูเอกสารเพิ่มเติม หรือเรียกเข้าห้องสัมภาษณ์พิเศษ (ห้องเย็น) ได้ ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับผ่านด่าน ตม. จึงเป็นอะไรที่มีความสำคัญมาก ๆ เลยล่ะ
แนะนำเทคนิคการผ่าน ตม. ญี่ปุ่น เที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้แบบสบายใจ
1. จัดเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน
ตรวจสอบหนังสือเดินทาง (Passport) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ก่อนวันหมดอายุนับจากวันที่เราเดินทางท่องเที่ยว กรณีหนังสือเดินทางหมดอายุต้องไปทำเล่มใหม่ และควรพกเล่มเก่าติดตัวไปด้วยในระหว่างการเดินทาง เผื่อเวลาเจ้าหน้าที่ ตม. สงสัยเรื่องการเดินทาง จะได้มีหลักฐานยืนยันประวัติการเดินทางของเรา
เอกสารรับรองการทำงานที่ประเทศไทย บัตรพนักงาน หรือบัตรนักเรียนนักศึกษา เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงตนว่าเรามีงาน หรือกำลังศึกษา การเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นแค่มาเที่ยวเท่านั้นแล้วต้องกลับไปทำงาน ไม่มีเจตนาจะมาอยู่ยาว หรือลักลอบทำงานผิดกฎหมาย
เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน (bank statement) อันนี้ไม่ใช่อวดรวย แต่เป็นการแสดงหลักฐานว่าเรามีรายได้ประจำอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่ได้มาแย่งรายของคนญี่ปุ่นแน่นอน
ตั๋วเครื่องบิน หรือใบเสร็จค่าตั๋วเครื่องบินทั้งไปและกลับ ซึ่งจะแสดงหลักฐานชัดเจนว่าเรามีกำหนดเวลาในการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลากี่วัน เดินทางเข้าออกประเทศวันไหน
หลักฐานการจ่ายเงินค่าโรงแรม หรือที่พักในประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือถ้าไปพักบ้านเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักที่เขามีบ้านในประเทศญี่ปุ่น ก็ควรบันทึกรายละเอียดทั้งชื่อสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนเอาไว้ด้วย แผนการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ควรพิมพ์รายละเอียดของโปรแกรมท่องเที่ยวติดตัวไว้เลย เช่น ไปเที่ยวที่ไหน ไปกับใคร ไปกี่วัน พักที่ไหน กรณีไปกันหลายคนให้แจกทุกคนไปเลย
2. เตรียมข้อมูลไว้ตอบคำถาม
การตรวจเอกสารที่ขาดไม่ได้เลย คือ หนังสือเดินทาง ส่วนเอกสารอื่น ๆ เจ้าหน้าที่อาจจะไม่ตรวจถ้าไม่มีข้อสงสัย เพราะฉะนั้น ถ้าเราจดจำข้อมูลแล้วตอบคำถามได้ชัดเจน การผ่าน ตม. ญี่ปุ่น ก็จะง่ายขึ้น
เจ้าหน้าที่ ตม. มักจะมีคำถามเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันในระหว่างพูดคุยสอบถามเจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่นก็จะดูปฏิกิริยาของนักท่องเที่ยวระหว่างตอบคำถามไปด้วย เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวจึงควรท่องจำข้อมูล เช่น แผนการเดินทางท่องเที่ยวไปเที่ยวไหนและท่องจำข้อมูลให้ได้มากที่สุดจะเป็นประโยชน์เวลาตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่น เพราะยิ่งจำข้อมูลได้ดีก็จะยิ่งตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ
3. การแต่งตัวให้เหมาะสมถูกกาลเทศะ
นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้เหมาะสม เช่น การแต่งตัวให้เหมาะสมกับฤดูกาลที่ไปท่องเที่ยว ช่วงหน้าหนาวก็ควรมีเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันหนาว ช่วงหน้าร้อนก็ควรแต่งแบบสบาย ๆ การแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะไม่จำเป็นต้องแต่งตัวให้ต้องหรูหราโดดเด่น เพราะจะยิ่งกลายเป็นจุดสนใจ และสะดุดตาเจ้าหน้าที่ แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่นเห็นเราเป็นแค่นักท่องเที่ยวให้มากสุด
4. การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ
นักท่องเที่ยวที่ผ่านด่าน ตม. ญี่ปุ่นแบบง่าย ๆ ทุกรายล้วนมีกิริยาท่าทางที่น่าเชื่อถือ เพราะอากัปกิริยาของเราเป็นสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่สังเกตได้ตั้งแต่ยืนเข้าคิวยื่นเอกสารเดินทางแล้ว ยิ่งถึงคิวต้องยื่นพาสปอร์ตเจ้าหน้าที่จะยิ่งเห็นเราชัดขึ้นไปอีก นักท่องเที่ยวควรพูดคุยด้วยอาการสบาย ๆ พูดจาชัดเจน สบตาเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องเกร็ง ไม่รนรานตื่นตระหนก หรือตื่นเต้นเกินไป จำไว้ว่าคนที่จะถูกเรียกตรวจสอบก่อนคนอื่น คือ คนที่มีพิรุธที่สุด
5. ตรวจเช็คสิ่งของที่ผิดกฎหมาย หรือสิ่งของต้องห้าม
ข้อนี้ นักท่องเที่ยวต้องศึกษากฎหมายคราว ๆ ของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ด้วยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายอะไรบ้างที่เราไม่สามารถนำเข้าประเทศเขาได้ เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีวินัยและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดอย่างประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้วยิ่งต้องระวังให้ดี ไม่ควรนำสิ่งของผิดกฎหมายหรือสิ่งของต้องห้ามเข้าประเทศเขาเป็นอันขาด ตัวอย่างของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ยาบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด เป็นต้น
6. กรอกเอกสารตรวจคนเข้าเมืองให้เรียบร้อย
นักท่องเที่ยวเตรียมตัวไปญี่ปุ่นจะต้องกรอกเอกสาร 2 ส่วน คือ ใบ ตม. ญี่ปุ่น กับ ใบศุลกากร โดยนักท่องเที่ยวจะได้รับแบบฟอร์ม New format of the disembarkation Card for Foreign Nationals คือ แบบฟอร์มสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชั่วคราว ไม่เกิน 15 วัน ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องกรอกข้อมูลทั้งบัตรขาเข้าและขาออก รวมทั้งตอบคำถาม เช่น ประวัติการถูกเนรเทศจากประเทศญี่ปุ่น ประวัติอาชญากรรม การครอบครองอาวุธและสารเสพติด เป็นต้น
ส่วนอีกหนึ่งใบ คือ ใบศุลกากร (Customs Declaration) ที่จะให้นักท่องเที่ยวกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของที่นำติดตัวเข้าประเทศญี่ปุ่น เช่น สินค้าต้องห้ามนำเข้า สินค้าที่นำมาฝากคนญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเอกสารทั้งสองอย่างนักท่องเที่ยวจะได้รับตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน สามารถเขียนให้เสร็จได้ตั้งแต่อยู่บนเครื่องเพื่อความสะดวก
7. ฝึกซ้อมภาษาอังกฤษไว้บ้าง
นักท่องเที่ยวที่เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่น จะได้ถือโอกาสนี้ฝึกซ้อมภาษาอังกฤษเอาไว้ใช้งานกันอย่างจริงจังเสียที ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่น จะใช้คำถามง่าย ๆ และไม่ยาวมากนัก เราลองยกตัวอย่างมาให้นักท่องเที่ยวลองซ้อมเอาไว้ใช้งาน ดังนี้
1) คำถาม: Why are you here? (คุณมาทำอะไรที่นี่)
คำตอบ: to travel. (มาท่องเที่ยว)
คำตอบ: to study. (มาเรียน)
คำตอบ: to Visit Relatives/my friend. (มาเยี่ยมญาติ/มาเยี่ยมเพื่อน)
2) คำถาม: Where you plan to go? (คุณวางแผนไว้ว่าจะมาเที่ยวที่ไหน)
คำตอบ: บอกชื่อเมืองที่มาเที่ยว ระบุจุดที่จะไปด้วยยิ่งดี
3) คำถาม: How long will you be staying? (คุณมาอยู่กี่วัน)
คำตอบ: บอกจำนวนวัน เช่น Seven Days (เจ็ดวัน)
4) คำถาม: Where are you staying? (คุณพักที่ไหน)
คำตอบ: บอกชื่อโรงแรม และชื่อเมือง
แต่ถ้ามีคำถามเพิ่มเติมว่า and the place’s address อันนี้ คือ เจ้าหน้าที่ต้องการให้ลงรายละเอียดสถานที่พัก อาจต้องเอาเอกสารจองที่พักให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย
8. พกเงินสด และบัตรเครดิต
นักท่องเที่ยวควรพกเงินสดติดตัวไว้ใช้ให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไป ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น และพกบัตรเครดิตไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม การมีบัตรเครดิตติดตัวไว้ยังมีประโยชน์นอกจากจะอุ่นใจเรื่องการใช้จ่าย ยังเป็นหลักฐานว่าเรามีงานทำหรือมีรายได้ประจำอย่างแน่นอน จึงมีบัตรเครดิตได้
9. เตรียมกระเป๋าเดินทางที่เหมาะสม
นักท่องเที่ยวที่เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่น ควรเตรียมกระเป๋าเดินทางที่มีขนาดเหมาะสมกับระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ควรใช้กระเป๋าใหญ่หรือเล็กเกินไปเพราะจะยิ่งเตะตาเจ้าหน้าที่ ตม. ญี่ปุ่น มากขึ้น อาจจะถูกขอตรวจค้น หรือสอบถามเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ
สุดท้าย หากนักท่องเที่ยวที่เตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อท่องเที่ยวจริง ๆ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงอื่น ๆ และนำเอาข้อมูลที่เราได้นำมาให้อ่านไปปฏิบัติ รับรองได้ว่าผ่าน ตม. ญี่ปุ่น ได้อยู่แล้ว