หากกล่าวถึงเครื่องรางของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทย หลายคนคงต้องนึกถึงเครื่องรางวัดคิโยมิสึ (Kiyomizu-dera) หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “วัดน้ำใส” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แห่งเมืองเกียวโต เพราะเครื่องรางญี่ปุ่นของวัดนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมเครื่องรางญี่ปุ่นชาวไทย เพราะมีการบอกกันปากต่อปากว่าเครื่องรางของวัดน้ำใสมีความศักดิ์สิทธิ์ทำให้คนที่ครอบครองอธิษฐานขอพรแล้วสมความปรารถนานั่นเอง
วัดคิโยมิสึ (Kiyomizu) หรือวัดน้ำใสเป็นวัดเก่าแก่ในพุทธศาสนา มาตั้งแต่ปี ค.ศ.778 และเหตุที่ชาวบ้านพากันเรียกวัดนี้ว่าวัดน้ำใส ก็เพราะในบริเวณวัดมีน้ำตกโอะโตะวะ (Otowa Waterfall) ซึ่งเป็นน้ำตกธรรมชาติไหลลงมาจากภูเขาโอะโตะวะ (Otowa) ผ่านวัดแห่งนี้ ชาวบ้านจึงพากันเชื่อว่าน้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ปนอยู่ด้วย ภายในวัดมีการสร้างรางน้ำรับน้ำตกและปล่อยออกมาเป็น 3 สาย เชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ดื่มน้ำและขอพรก็จะได้รับโชคดีตามที่ตนปรารถนา โดยมีความเชื่อว่าสายน้ำที่ 1 จะให้พรในด้านการศึกษา สายน้ำที่ 2 จะให้พรในเรื่องความรัก และสายน้ำที่ 3 จะให้พรในเรื่องสุขภาพแข็งแรง และหากได้ดื่มน้ำทั้ง 3 สายก็จะได้รับพรทั้ง 3 ข้อรวมกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดน้ำใสก็มักจะดื่มน้ำทั้ง 3 สาย โดยขั้นตอนในการดื่มน้ำ นักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางวัด คือ ต้องใช้กระบวยตักน้ำไปฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเล็ต เสร็จแล้วนำกระบวยไปตักน้ำจากศาลาที่จุดตักน้ำ เทน้ำใส่ฝ่ามือตัวเองแล้วดื่มจากฝ่ามือเท่านั้น ห้ามดื่มจากกระบวย
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังนิยมเดินทางมาวัดน้ำใสเพื่อมาสักการะ คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมซึ่งเป็นพระประธาน และนิยมเดินทางมาชมความงดงามทางสถาปัตยกรรมรูปแบบเฮอันที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งวิหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันของวัดน้ำใสสร้างขึ้นใหม่ในปีค.ศ.1633 หลังจากถูกไฟเผาจนเสียหายอยู่หลายครั้งในช่วงสงคราม ในปี ค.ศ.1467-1477 วัดแห่งนี้สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ด้วยวิธีการสร้างด้วยวิธีการโบราณที่เรียกว่า “Kakezukuri” คือ การเข้าสลักลิ่มโดยไม่ต้องใช้ตะปูในการก่อสร้างเลยแม้แต่ตัวเดียว ช่างจะใช้การเจาะไม้เป็นช่องและมีเดือยไม้ใส่แล้วประกอบเป็นตัวอาคาร มีเสาไม้ขนาดใหญ่หลายต้นเป็นโครงสร้างอาคาร ยิ่งถ้านักท่องเที่ยวไปเยือนในช่วงใบไม้เปลี่ยนสีจะยิ่งได้บรรยากาศที่สวยงามยิ่งนัก ความงดงามและเงียบสงบทำให้วัดน้ำใสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ.1994
กลับมาที่เรื่องเครื่องรางวัดน้ำใสซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายนั้นโดยเฉพาะเรื่องความรัก ต้องขอย้อนไปถึงเรื่องราวของศาลเจ้าที่อยู่ภายในวัดคิโยมิสึ คือ ศาลเจ้าจิชู (Jishu Shrine) เชื่อกันว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่สถิตของเทพโอคุนินุชิ โนะ มิโคโตะ (Okuninushi no Mikoto) ซึ่งเป็นเทพที่มีลูกกว่า 180 คน คนญี่ปุ่นจึงเชื่อว่าเป็นเทพนักรัก และสามารถช่วยดลบันดาลให้สมปรารถนาในเรื่องความรักได้ ศาลเจ้าจิชูจึงกลายเป็นศาลเจ้าแห่งความรัก และความราบรื่นในชีวิตคู่ และในศาลเจ้ายังมีโปรแกรมทดสอบรักแท้อีกด้วย โดยจะมีหินสองก้อนเรียกว่า “เมกุระอิชิ” ที่แปลว่า หินตาบอด หรือ หินแห่งความรัก ซึ่งหินทั้งสองก้อนตั้งอยู่ห่างกัน 18 เมตร ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าถ้าสามารถหลับตาแล้วเดินจากหินก้อนหนึ่งไปยังหินอีกก้อนหนึ่งได้ ขณะที่ยังท่องชื่อคนรักไว้ในใจจะทำให้ผู้นั้นสมปรารถนาในความรัก หรืออีกนัยหนึ่ง คือ หินนี้สามารถพิสูจน์รักแท้ได้ โดยการให้คู่ของตนยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของหินแล้วปิดตา แล้วให้คนที่ปิดตาเดินมาหาคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งให้ได้ ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นรักแท้ของกันและกัน
10 เครื่องรางวัดน้ำใสที่คนนิยมบูชา
- เครื่องรางวัดน้ำใส ความโชคดี : เป็นกระพรวนซากุระสีชมพู เป็นเครื่องรางช่วยเสริมโชคลาภ ชักนำสิ่งดีดีให้เข้ามาสู่ผู้ครอบครอง ใช้พกติดตัว ห้อยกับกระเป๋า หรือห้อยกับโทรศัพท์
- เครื่องรางวัดน้ำใส ความสุข : ถุงผ้าสีขาวขนาดเล็กติดลูกกระพรวนสีทอง ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดเป็นเครื่องรางที่เสริมเรื่องความสุข ปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับผู้ครอบครอง มีสายสำหรับคล้องกับโทรศัพท์หรือพวงกุญแจได้
- เครื่องรางวัดน้ำใส สุขภาพ : ถุงผ้าสีเหลือง ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดเป็นเครื่องรางเสริมในเรื่องสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หายจากอาการเจ็บป่วย ใช้พกติดตัว
- เครื่องรางวัดน้ำใส การศึกษา : ผ้าสีแดงทรงกระบอก เป็นเครื่องรางเสริมในเรื่องการเรียน การสอบสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังต้องการกำลังใจ ใช้พกติดตัว ใส่กระเป๋าหนังสือ หรือกล่องดินสอก็ได้
- เครื่องรางวัดน้ำใส อายุยืน : ถุงผ้าสีม่วงสี่เหลี่ยมทรงกลม ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัด พกไว้ติดตัวเป็นเครื่องรางเสริมให้ผู้ครอบครองมีอายุยืนยาว สุขภาพดี
- เครื่องรางวัดน้ำใส ความรักยาวนาน : ถุงผ้าสีน้ำเงินแดงคู่กัน ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดใช้พกติดตัวเป็นเครื่องรางสำหรับคู่รักที่ต้องการเสริมเรื่องความรักให้ยืนยาว เหนียวแน่น
- เครื่องรางวัดน้ำใส ความสำเร็จ : ถุงผ้าสีฟ้าปักลวดลายสีทอง ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดเป็นเครื่องรางสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่ต้องการเลื่อนขั้น ก้าวหน้าในอาชีพ คนทำธุรกิจที่ต้องการความสำเร็จ นักเรียนที่ต้องการสอบได้ ใช้พกติดตัว หรือใส่กระเป๋าสตางค์
- เครื่องรางวัดน้ำใส การเดินทางปลอดภัย : ถุงผ้าสีแดง ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดเป็นเครื่องรางแนวแคล้วคลาดปลอดภัย เดินทางใกล้ไกลไม่มีอุบัติเหตุ ใช้พกติดตัวระหว่างเดินทาง หรือแขวนไว้ในรถยนต์
- เครื่องรางวัดน้ำใส ป้องกันโชคร้าย : ถุงผ้าสีแดง ด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัดเป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่จะเข้ามาให้ชีวิตของผู้ครอบครอง ใช้พกไว้ในกระเป๋าสตางค์ พกติดตัวไว้
- เครื่องรางวัดน้ำใส: แห่งชัยชนะ : ถุงผ้าสีม่วงห้าเหลี่ยมขนาดเล็กด้านในถุงบรรจุแผ่นยันต์ของทางวัด เป็นเครื่องรางสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการเรียน การทำงาน การแข่งขัน ใช้คล้องพวงกุญแจ โทรศัพท์ หรือพกติดตัว
การเดินทางมาวัดคิโยมิสึ
วัดน้ำใสเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตลอดทั้งปี ตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น. โดยในช่วงเดือนเมษายน สิงหาคม และพฤศจิกายน จะมีช่วงที่ทางวัดขยายเวลาเปิดในช่วงกลางคืนเพิ่มเติมจนถึง 21.30 น.อีกด้วย ส่วนการเดินทางมาเที่ยวและบูชาเครื่องรางวัดน้ำใส นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ตามเส้นทาง ดังนี้
- จากสถานีรถไฟเกียวโต (JR Kyoto Station) ให้นักท่องเที่ยวนั่งซิตี้บัส (City Bus) สาย No.206 มุ่งหน้าสู่ คิตะโอจิ บัส เทอร์มินอล (Kitaoji bus terminal via Higasihama-dori) หรือสาย No.100 มุ่งหน้าสู่ กินคะคุจิ (Ginkaku-ji via Kiyomizu-dera Gion) ลงที่ป้ายโกโจซากะ (Gojozaka stop) และเดินต่ออีก 10 นาที
- จากสถานีรถไฟเกียวโต (JR Kyoto Station) นั่งเกียวโตบัว (Kyoto Bus) ซึ่งจะให้บริการเฉพาะวันเสาร์และวันหยุดเท่านั้น สาย No.18 มุ่งหน้าสู่โอฮาระ (Ohara) ลงที่ป้ายโกโจซากะ (Gojozaka stop) และเดินอีก 10 นาที
สุดท้าย เครื่องรางญี่ปุ่นเปรียบเสมือนที่สถิตแห่งเทพเจ้าที่ผู้ครอบครองควรพกพาด้วยความเคารพศรัทธา จึงจะได้รับพลังจากเครื่องรางและตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเครื่องรางที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลาเกิน 1 ปี จะไม่สะอาดและบริสุทธิ์ซึ่งจะทำให้พลังของเครื่องรางลดลง จึงควรเปลี่ยนเครื่องรางใหม่ทุกปี ส่วนเครื่องรางชิ้นเก่าผู้ที่ครอบครองควรนำไปคืนยังสถานที่ที่บูชามา เช่น วัดหรือศาลเจ้า เพื่อให้นักบวชนำเครื่องรางเก่าไปจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป สำหรับใครที่อยากได้เครื่องรางมาพกติดตัวไว้เพื่อเป็นสิริมงคล หากมีโอกาสไปญี่ปุ่นอย่าลืมแวะไปบูชาเครื่องรางวัดน้ำใสกันด้วยนะคะ