พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ เที่ยวพร้อมสักการะสิ่งสักศักดิ์สิทธิ์ Cover Page

เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาช้านานแล้ว ทำให้เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยปูชนียสถานสำคัญๆ ที่สวยงาม บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของประเทศลาวได้เป็นอย่างดี โดยพระธาตุหลวงเวียงจันทน์นับเป็นศาสนสถานที่สำคัญมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ในปัจจุบันจึงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่หากไม่ได้ไปเยือนก็เหมือนกับว่าไปไม่ถึงเวียงจันทน์กันเลยทีเดียว

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน
+
ความเป็นมาของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์
ประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์
วิธีเดินทางไปพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

ความเป็นมาของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

 

พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ Image1

 

พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ มีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือพระเจดีย์โลกะจุฬามณี เป็นปูชนียสถานสำคัญที่ประชาชนชาวลาวจากทั่วประเทศต้องเดินทางมาเยี่ยมเยือนและสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต มีตำนานระบุว่าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์แห่งนี้มีประวัติการก่อสร้างโดยช่างฝีมือชาวลาวเช่นเดียวกับพระธาตุพนมของประเทศไทย จึงโดดเด่นด้วยความสวยงามตามศิลปะลาวที่โดดเด่นแตกต่างพระธาตุองค์อื่นๆ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของดินแดนที่อยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขงมาก เปรียบได้กับสัญลักษณ์สำคัญของประเทศลาวเลยทีเดียว โดยมีการนำรูปของพระธาตุไปใช้เป็นตราแผ่นดินอีกด้วย

โดยคาดว่าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ได้ถูกสร้างขึ้นหลังการสถาปนานครเวียงจันทน์ได้ 6 ปี โดยมีผู้สร้างคือบุรีจันอ้วยล้วย หรือพระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์เป็นพระองค์แรก และมีพระอรหันต์ถึง 5 รูปที่มาเข้าร่วมในการก่อสร้างด้วย ภายในพระธาตุใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวเหน่า 27 พระองค์ ซึ่งได้ถูกอัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย จากนั้นท่านเจ้าเมืองได้ก่ออุโมงค์หินขึ้นมาคร่อมพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ อุโมงค์มีขนาดกว้างด้านละ 5 วา ตัวผนังมีความหนา 2 วา และสูง 4 วา 3 ศอก เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระเจ้าจันทบุรีได้มีพระราชดำรัสให้จัดสร้างวิหารขึ้นในนครเวียงจันทน์อีก 5 หลัง เพื่อถวายให้กับพระอรหันต์ทั้ง 5 รูปนั่นเอง ซึ่งนักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่าช่วงเวลาในการก่อสร้างพระธาตุหลวงเวียงจันทน์คือ ค.ศ. 1566

 

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

 

พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ Image2

 

ลักษณะของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์จะดูคล้ายผลแตงโมที่ถูกผ่าครึ่งแล้วตั้งอยู่บนฐานรูป 4 เหลี่ยม ยอดพระธาตุตกแต่งด้วยศิลปะลาวเพราะมีลักษณะเป็นทรงดอกบัวตูม หรือวงปีรูปสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยเจดีย์บริวารที่มียอดแหลมวางเรียงรายล้อมรอบองค์พระธาตุ ถัดออกมาจะเป็นกำแพงปูนที่ประดับด้วยใบเสมาแลดูคล้ายกำแพงพระราชวังต่างๆ เพราะสร้างตามอุดมคติของพระราชวังลาวโบราณ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างหลักคืออิฐศิลาแลงสีแดง

สถาปัตยกรรมของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์นั้นโดดเด่นมาก องค์พระธาตุมีความสูงมากถึง 45 เมตร รูปทรงของพระธาตุมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม เพราะชาวลาวถือว่ารูปทรงนี้เป็นสัญลักษณ์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ฐานของพระธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมโดยมีความยาวด้านละ 69 เมตร ส่วนพระธาตุบริวารมีความกว้างด้านละ 30 เมตร ใบเสมาที่รอบล้อมบนกำแพงมีด้วยกันทั้งหมด 323 ใบ และยังมีหอไหว้ทั้ง 4 ด้าน บริเวณใกล้ ๆ กับพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ยังเป็นที่ตั้งของวัด 2 แห่ง คือวัดธาตุหลวงเหนือ และวัดธาตุหลวงใต้ และตรงประตูทางเข้าใหญ่จะเป็นที่ตั้งของพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในลักษณะนั่งอยู่บนฐานสูง ในพระหัตถ์จะมีพระแสงดาบวางพาดเอาไว้บนพระเพลา โดยพระแสงดาบเล่มนี้ชาวลาวเชื่อว่าทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงเวียงจันทน์เอาไว้อีกด้วย

 

ประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

 

พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ Image3

 

ทุกๆ ปีที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่สำคัญคือ งานประเพณีบุญนมัสการพระธาตุหลวง เป็นงานประเพณีที่ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยจัดขึ้นทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 โดยภายในงานจะประกอบไปด้วย

 

  • การแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งนั้นชาวลาวเชื่อว่าเป็นการสั่งสมบุญ ช่วยให้มนุษย์ได้ไปเกิดในภพภูมิหน้าที่ดี โดยจะเริ่มปราสาทผึ้งจะถูกตกแต่งอย่างสวยงาม และทำการแห่พร้อมต้นกัลปพฤกษ์มาที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์เพื่อความเป็นสิริมงคล
     
  • ประเพณีตีคลี เป็นประเพณีโบราณที่นิยมเล่นกันในช่วงงานประเพณีนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ในปัจจุบันเป็นประเพณีที่แสดงถึงความสามัคคีปรองดองของชาวลาว
     
  • ประเพณีทำบุญตักบาตร การทำบุญตักบาตรในเทศกาลนี้จะถูกจัดขึ้นบริเวณลานกว้างหน้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะมีตั้งแต่ผู้นำระดับสูง แขกเหรื่อของบ้านเมือง และชาวนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งในปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมงานได้ หรือจะร่วมเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุในช่วงกลางคืนก็ได้เช่นกัน
     
  • งานแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า เป็นโอกาสอันดีที่นักท่องเที่ยวจะได้จับจ่ายซื้อของฝากที่หลากหลาย ทั้งสินค้าแบบพื้นเมืองฝีมือของชาวลาว หรือสินค้าที่นำเข้าจากประเทศใกล้เคียงทั้งประเทศไทย พม่า เวียดนาม และจีน ก็มีให้เลือกซื้ออย่างมากมาย ยิ่งใหญ่สมเป็นงานประจำปีของพระธาตุหลวงเวียงจันทน์เลยทีเดียว
     
  • การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายในเทศกาลนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์จะมีการจัดการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวลาวให้ได้ชื่นชมกันมากมาย ทั้งงานแสดงที่เกี่ยวกับวรรณคดีของชาวลาว หรือขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ของชาวลาวอีกด้วย

 

วิธีเดินทางไปพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

 

พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ Image4

 

นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถเมล์สาธารณะสายสีเขียวไปที่ตลาดเช้า แล้วเรียกรถสามล้อให้ไปส่งที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ได้โดยมีค่าโดยสารประมาณ 60 - 80 บาท เปิดให้เข้าชม เวลา 08.00 – 17.00 น. แนะนำให้แต่งกายสุภาพ เพราะพระธาตุหลวงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศลาว และเสียค่าเข้าชมในราคา ราคา 5000 กีบ หรือประมาณ 12 บาท

 

และแม้จะไม่ใช่ช่วงงานเทศกาล หน้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ก็จะมีร้านขายของฝาก ของที่ระลึกต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดที่ระลึก ผ้าซิ่น เครื่องเงิน กระเป๋าผ้า หรือพวงกุญแจ เรียกได้ว่านอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ พร้อมเก็บภาพสวยๆ แล้ว ยังจะได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่างแน่นอนอีกด้วย

Powered by