ศาลเจ้าอิเสะ หรือ Ise Jingu หนึ่งในศาลเจ้าของจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นที่มีความสำคัญมากที่สุดและเก่าแก่ที่สุดมากถึง 2,000 ปีเลยทีเดียว และเป็นศาลเจ้าลัทธิชินโตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งเช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกนับล้านคนจะเข้ามาแวะเวียนมาสักการะกันอยู่ตลอด โดยวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับศาลเจ้าอิเสะแห่งนี้กันว่ามีประวัติที่มาโดยสังเขปอย่างไร และมีไฮไลท์ส่วนไหนบ้างที่คุณห้ามพลาด พร้อมแล้วก็ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ
ประวัติของศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu)
ศาลเจ้าอิเสะ (Ise jingu) ถูกสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 239 โดยเป็นที่สถิตของเทพีอามาเทราสึ หรือเทพีแห่งดวงอาทิตย์ ที่ถือว่าเป็นเทพหลักของลัทธิชินโตและได้รับการนับถือมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ตามตำนานเล่าว่าเทพอามาเทราสึได้ส่งมอบสิ่งของศักดิสิทธิ์ 3 อย่างให้แก่นินิงิ หรือหลานสาวของเธอ ได้แก่ กระจกยาตะ ลูกแก้วมากะทามะ และดาบคุซานางิ โนะ ซึรูงิ ซึ่งแต่ละชิ้นถูกเก็บรักษาอย่างดีไว้ที่ศาลเจ้าอิเสะแห่งนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิของชาวญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพีอามาเทราสึ ทำให้ชาวญี่ปุ่นและผู้ที่นับถือลัทธิชินโตต่างพากันมาเยี่ยมชมและสักการะเทพีแห่งดวงอาทิตย์ที่ศาลเจ้าอิเสะแห่งนี้นั่นเองค่ะ
และแม้ว่าศาลเจ้าอิเสะจะถูกก่อตั้งมาอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปี แต่สภาพโดยรวมก็ยังดูสมบูรณ์อยู่ เนื่องจากในทุก ๆ 20 ปีนั้น ที่นี่จะมีการบูรณะเพื่อคงสภาพศาลเจ้าให้สมบูรณ์ที่สุด และเพื่อเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมศิลปะและความรู้ทักษะเกี่ยวกับการบูรณะศาลเจ้าให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกด้วย
ไฮไลท์ในศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu) ที่คุณห้ามพลาด
Geku ศาลเจ้าอิเสะส่วนนอก
ศาลเจ้าอิเสะส่วนนอกเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรม พืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือที่เรียกว่าเทพเจ้าโทยูเคะ ซึ่งตามความเชื่อเทพเจ้าองค์นี้จะเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องอาหารการกินให้แก่เทพีแห่งดวงอาทิตย์ รวมถึงคอยบันดาลเสื้อผ้า ที่พักอาศัย และอาหารให้แก่มวลมนุษย์ด้วยเช่นกัน สำหรับการตกแต่งศาลเจ้าเทะเจ้าโทยูเคะนั้นจะคล้ายกับของเทพีอามาเทราสึ เพียงแต่ขอบหลังคาจะมีการประดับด้วยทองคำ พร้อมทั้งมีส่วนที่เรียกว่า Mikeden Hall หรือสถานที่ชำระล้างบาปและเป็นจุดที่จะได้รับโอฟุดะ หรือยันต์ที่จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ
Uji-bashi Bridge
สะพานข้ามแม่น้ำจากศาลชั้นนอกสู่ศาลชั้นใน ที่ว่ากันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกของเทพเจ้า ทอดตัวยาวกว่า 100 เมตร ด้านหน้าก่อนขึ้นสะพานมีเสาโทริอิขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านให้คุณได้โค้งคำนับก่อนที่จะก้าวเท้าขึ้นสะพาน ด้านล่างก็เป็นแม่น้ำ Izuzu ไหลผ่าน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าอิเสะเป็นอย่างมากดังปรากฎในบทกวี บทประพันธ์ต่าง ๆ และบริเวณตลิ่งของแม่น้ำสายนี้ก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับชำระล้างบาปอีกด้วย
Naiku ศาลเจ้าอิเสะส่วนใน
ไกลออกมาประมาณ 3 กิโลเมตรจากศาลเจ้าอิเสะส่วนนอก และข้ามสะพาน Uji-Bashi มาแล้วก็จะถศาลเจ้าอิเสะส่วนในหรือ Naiku ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพีอามาเทราสึ ตัวศาลเจ้าทำจากต้นไซเปรสคุณภาพสูงที่มีความคงทนและยึดหลักการสร้างศาลเจ้าในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ภายในประดิษฐานกระจกศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์ของเทพีแห่งดวงอาทิตย์และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งในศาลเจ้าชั้นในสุดนี้มีข้อห้ามที่เข้มงวดมาก ๆ ก็คือการงดถ่ายภาพนั่นเอง
Kagura Hall
สำหรับ Kagura Hall หรือห้องโถงคางุระนั้นตั้งอยู่ที่ส่วนของศาลเจ้าอิเสะส่วนใน สร้างขึ้นเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมร้องเพลงและเต้นรำคางุระ หรือการเต้นรำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการอธิษฐาน ขอพรต่อเทพเจ้าในลัทธิชินโต ขณะเดียวกันในบริเวณห้องโถงคางุระนี้ก็มีการจำหน่ายเครื่องรางนำโชคให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
Oharai-Machi
ระหว่างทางที่จะเดินถึงศาลเจ้าอิเสะส่วนในนั้นจะเป็นชุมขนเล็ก ๆ ที่มีอายุกว่า 300 ปี สร้างขึ้นสมัยเอโดะ ปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็นร้านค้าขายของฝาก อาหาร เครื่องดื่มนานาชนิด บางร้านก็มาในรูปแบบคาเฟ่ตกแต่งน่ารัก ๆ ทว่ายังคงความเป็นไม้โบราณเหมือนญี่ปุ่นสมัยก่อนอยู่ โดยนักท่องเที่ยวจะนิยมแวะชุมชนแห่งนี้กันเป็นอย่างมาก เพราะละลานตาไปด้วยอาหารท้องถิ่นมากมาย เช่น อุด้ง โซบะ ลูกชิ้นปลาไหล หรือแม้แต่มีร้านค้าของที่ระลึกให้คุณเลือกช็อปไปฝากคนที่บ้านอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจจะมาเยี่ยมชมศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu) แห่งนี้ หรือต้องการมาสักการะเทพีแห่งดวงอาทิตย์ที่ถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดของแดนอาทิตย์อุทัยนั้น ก็สามารถขึ้นรถไฟมาลงที่สถานี Ise-shi แล้วเดินเข้ามายังศาลเจ้าส่วนนอกประมาณ 5-10 นาทีเท่านั้น ส่วนการเยี่ยมชมศาลเข้าอิเสะส่วนในนั้นจะเลือกเป็นเดินเท้าเข้าไป หรือนั่งรถบัสที่ทางศาลเจ้ามีไว้บริการก็ได้นะคะ โดยวันเวลาทำการของศาลเจ้าแห่งนี้นั้นเปิดให้ทำการทุกวัน ไม่มีวันหยุด แต่ในแต่ละเดือนจะมีเวลาเปิด-ปิดที่แตกต่างกัน แนะนำตรวจสอบเวลาทำการที่แน่ชัดในช่วงที่จะมาเที่ยวจะดีที่สุดค่ะ