แนะนำเมนูอาหารอินโดนีเซีย ที่น่าลองทานสักครั้ง
1. นาซีปาดัง (Nasi Padang)
เริ่มต้นกันที่อาหารอินโดนีเซียที่อร่อยโด่งดังไปถึงต่างประเทศอย่าง Nasi Padang ซึ่งเมนูนี้ชาวสิงคโปร์บอกว่าเป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่พวกเขาขาดไม่ได้กันเลยทีเดียวค่ะ เมนูอาหารที่อุดมไปด้วยรสชาตินี้ มีต้นกำเนิดมาจากอาหารของชาวมินังกาเบาแห่งสุมาตราตะวันตก ในเมือง Padang ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะว่าไปหน้าตาก็คล้ายเข้าราดแกงบ้านเราอยู่เหมือนกัน โดยทำมาจากข้าวที่ราดด้วยกับข้าวต่าง ๆ เช่น แกง ไก่ ปลา และส่วนต่าง ๆ ของเนื้อวัว วิธีที่ดีที่สุดในการรับประทานนาซีปาดังคือการใช้มือนั่นเองค่ะ เมื่ออิ่มแล้วก็ตบท้ายด้วยชาเย็น ๆ สดชื่นสักแก้ว โดยนาซีปาดังนั้นเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สามารถพบได้ในเมืองต่าง ๆ ทั้งในสุมาตรา ชวา กาลิมัน ตัน สุ ลาเวสี นูซาเต็งการา และปาปัว เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียสิงคโปร์ ติมอร์ตะวันออก และออสเตรเลีย
2. ราวอน (Rawon)
เมนูซุปเนื้อน้ำดำสไตล์อินโดนีเซีย อาหารเมนูเก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบชวาตะวันออก ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 8 เลยทีเดียวค่ะ ถึงแม้หน้าตาจะดูดำ ๆ ไม่น่ากิน แต่บอกเลยว่าต้องลองให้ได้ค่ะ ซึ่งสีดำที่เกิดขึ้นในน้ำซุปนั้นได้มาจากถั่ว keluak สีดำ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องปรุงรสหลักของเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียจานนี้ จึงทำให้ซุปกลายเป็นสีดำเข้มและได้รสชาติของถั่วที่เข้มข้น ส่วนผสมอื่น ๆ นอกจากถั่ว keluak แล้ว ยังประกอบไปด้วยเครื่องเทศอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น กระเทียม, ขิง, ขมิ้น, พริกแดง, ตะไคร้, ข่า, ใบกระวาน, ใบมะกรูด นำมาต้มกับเนื้อวัวหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า โรยหน้าด้วยต้นหอมและหอมเจียว เสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวย และกินคู่กับท็อปปิ้งอื่น ๆ เช่น ถั่วงอก, ข้าวเกรียบกระปุก และถั่วลันเตาทอด เป็นต้น
3. เปเซล (Pecel)
เมนูนี้เรียกได้ว่าเป็นสลัดแบบดั้งเดิมของชาวชวากันเลยทีเดียวค่ะ โดยถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในช่วงประมาณศตวรรษที่ 17 ที่ได้มีการนำเสนอเมนูผักจานนี้ให้กับ Sunan Kalijaga หนึ่งใน "เก้านักบุญ" ของศาสนาอิสลามชวา ส่วนประกอบหลักได้แก่ ผักใบเขียว, ถั่วงอก, ถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี โดยสามารถเพิ่มผักตามฤดูกาลหรือพืชผักท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ ได้ตามต้องการ ในขณะที่ซอสซัมบัลเปเซลจะทำมาจากถั่วลิสงคั่ว, ถั่วลันเตา, น้ำตาลมะพร้าว และเครื่องเทศอื่น ๆ โดยสามารถทำออกมาเป็นซอสแบบข้นหรือแบบน้ำ รสชาติหวานหรือเผ็ดก็ได้ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละที่ นิยมรับประทานคู่กับข้าวสวยหรือเค้กข้าว รวมไปถึงของทอด เช่น ข้าวเกรียบ, เต้าหู้ทอด, ข้าวเกรียบชวา ซึ่งความเรียบง่ายและมีราคาไม่แพงของเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียชนิดนี้ จึงทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศกันเลยทีเดียวค่ะ
4. นาซี อูดุก (Nasi uduk)
นาซี อูดุก (Nasi uduk) มีรากศัพท์มาจากคำว่า uduk ที่แปลว่า "ยาก" หรือ "การต่อสู้" ชี้ให้เห็นว่าเป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่ถูกบริโภคโดยชาวนาและกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอดีต บ้างก็บอกว่า uduk แปลว่าผสม ดังนั้น Nasi uduk จึงแปลว่าข้าวผสมนั่นเอง ที่มาของเมนูนี้เชื่อกันว่ามีอิทธิพลมาจากอาหารมาเลย์และชวา และมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จาการ์ต้า จนกลายเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศในปัจจุบัน ทำโดยการนำข้าวไปหุงในน้ำกะทิร่วมกับ ใบกานพลู, เปลือกขี้เหล็ก และตะไคร้เพื่อเพิ่มความหอม หรือใส่ใบเตยลงไปด้วยก็ได้ โดยจะใช้หอมแดงเจียวโรยลงบนข้าวก่อนนำไปเสิร์ฟ นิยมเสิร์ฟพร้อมเมนูอาหารชวาและเครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น ไข่เจียว, ไข่ต้ม, เนื้อทอด, เทมเป้, ไก่ทอด, ข้าวโพดทอด, ซอสพริกซัมบัล เป็นต้น
5. นาซีโกเร็ง (Nasi Goreng)
เมนูข้าวผัดถือได้ว่าเป็นสูตรอาหารที่โด่งดังและมีให้เห็นกันอยู่แทบทุกที่ และเป็นเมนูข้าวผัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน ว่ากันว่านาซีโกเร็ง (Nasi Goreng) มีต้นกำเนิดมาจากข้าวผัดของจีนตอนใต้ในช่วงราชวงศ์หมิง และได้รับการพัฒนากลายเป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซีย ด้วยการเติมน้ำตาลโตนดซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นลงไปเป็นส่วนผสม ซึ่งรัฐบาลได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า Nasi Goreng คือ 1 ใน 5 อาหารอินโดนีเซียประจำชาติ ซึ่ง Nasi Goreng นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่รสชาติที่หอมกลิ่นดินและควันไฟ นิยมเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าเนื่องจากเป็นการนำเอาข้าวที่เหลือจากคืนก่อนหน้ามาผัดนั่นเอง ทำให้ได้ข้าวผัดที่มีความร่วนซุย พร้อมด้วยส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ไข่ กุ้ง เนื้อสัตว์ พร้อมด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุงรส นิยมโรยหอมแดงเจียวและข้าวเกรียบแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสที่มีความกรุบกรอบ ตกแต่งด้วยแตงกวาและมะเขือเทศ และโปะไข่ดาวเอาไว้ด้านบน เป็นเมนูที่สามารถหารับประทานได้ทั่วประเทศ และยังมีแบบแช่แข็งที่สามารถนำไปอุ่นในไมโครเวฟได้อีกด้วย
6. บูบูร์ อายัม (Bubur Ayam)
โจ๊กไก่ฉีกของอินโดนีเซียที่จัดเครื่องหน้ามากันแบบเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นหอมซอย, หอมแดงเจียว, เกี๊ยวกรอบ, ผักดองเค็ม, ถั่วเหลืองทอด, แผ่นแป้งสาลีทอด (youtiao) ต้องบอกว่าบูบูร์ อายัม (Bubur Ayam) นั้นเป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียเพียงไม่กี่อย่างที่ไม่มีรสเผ็ด และเป็นอาหารเช้าที่สามารถรับประทานกันได้ทั่วไป ตั้งแต่ร้านรถเข็นข้างทางไปจนถึงร้านอาหารโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยมีต้นกำเนิดมาจากโจ๊กไก่ของจีน ซึ่งเราจะยังคงเห็นอาหารจีนที่ใช้อยู่ใน Bubur Ayam ก็คือ ยู่เตียว (youtiao) หรือแผ่นแป้งสาลีทอด และซีอิ๊วที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน ซึ่งนอกจากจะใช้ไก่ฉีกเป็นส่วนผสมหลักในโจ๊กแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องในไก่เป็นเครื่องเคียงได้อีกด้วย โดยนิยมรับประทานร่วมกับไข่ต้ม, ตับ, กึ๋น, ไส้ และไข่พวง เป็นเมนูที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กและผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารอ่อน ๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ
7. อายัม ตาลีวัง (Ayam Taliwang)
มาต่อกันที่เมนูไก่กันอีกหนึ่งเมนูค่ะ ไก่ย่างรมควันรสเผ็ดของอินโดนีเซีย ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองตาลีวัง (Taliwang) ซึ่งตั้งอยู่ในนูซาเต็งการาตะวันตกของอินโดนีเซีย และเป็นที่มาของชื่อเมนูนี้นั่นเอง โดยทำจากเนื้อไก่ที่แล่และทำความสะอาดก่อนนำไปย่าง เมื่อย่างสุกไปได้ครึ่งทางแล้วจะนำไก่ออกจากเตาย่าง และนำมาทุบให้นุ่ม จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที แล้วนำไปคั่วกับเครื่องปรุงที่มีพริกแห้ง, หอมแดง, กระเทียม, มะเขือเทศ, กะปิทอด, ข่า, น้ำตาลทราย, เกลือ จากนั้นนำไปทอดหรือย่างต่อจนสุกได้ตามต้องการ ซึ่งลักษณะออกมาจะคล้ายกับไก่ย่างหรือไก่ทอดตามปกติ แต่จะมีรสชาติที่หวานออกเผ็ดตามกลิ่นของพริกและกะปิ นิยมเสิร์ฟพร้อมซอสซัมบัล, ข้าวอบ, คะน้าผัด และผักสดเพื่อแก้เลี่ยน
8. อายัม เบตูตู (Ayam Betutu)
ยังคงอยู่ที่เมนูไก่กันค่ะ เมนูนี้หากใครได้เคยไปเที่ยวบาหลีมาก่อนอาจจะเคยลองชิมกันดูแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในอาหารดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนเกาะ ชื่อ 'Betutu' มาจากคำว่า 'tutu' ซึ่งแปลว่าการเผาไหม้ รวมกับคำว่า 'be' ซึ่งแปลว่าเนื้อสัตว์ ดังนั้น Ayam Betutu จึงหมายถึงไก่อบนั่นเอง โดยจะทำการอบไก่ในแกลบที่ให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยจะต้องมีการนำเอาไก่ไปหมักกับเครื่องเทศต่าง ๆ ข้ามคืน เพื่อให้รสชาติและความหอมของเครื่องเทศนั้นเข้าเนื้อ แล้วนำไปย่างไฟด้วยแกลบจนสุกดี ซึ่งการย่างไฟกับแกลบนั้นทำให้ไก่ได้รับความร้อนต่ำอย่างสม่ำเสมอ จึงได้เนื้อไก่ที่มีความนุ่มชุ่มฉ่ำราวกับนำไปนึ่งเลยทีเดียว นิยมเสิร์ฟมาเป็นไก่ทั้งตัว ที่อบอวลเข้มข้นไปด้วยรสชาติและกลิ่นหอมของสมุนไพร เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่ไม่อยากให้พลาดกันค่ะ
9. โอปอ อะยัม (Opor Ayam)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไก่นั้นเป็นวัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ในอาหารอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก ซึ่งเมนูนี้ก็เป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซียอีกเมนูหนึ่งที่ปรุงมาจากไก่เช่นกันค่ะ หนึ่งในเมนูอาหาร Eid Al-Fitr อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย พบได้มากโดยเฉพาะในชวากลาง เมนูนี้เป็นการนำเอาไก่มาต้มในกะทิ และเครื่องเทศอื่น ๆ หลายชนิด เช่น ใบกระวาน, ตะไคร้, ข่า และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารอินโดนีเซีย โดยทั่วไปแล้วจะเสิร์ฟมาพร้อมกับข้าวสวย, ไข่ต้ม, ketupat (ข้าวต้มใบกะพ้อ), lontong (เค้กข้าวรูปหลอด) และ sambal goreng ati (ตับวัวผัดพริกซัมบัล)
10. อาซีนัน (Asinan)
เมนูผักและผลไม้ดอง ซึ่งสามารถดองได้ทั้งน้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชู เป็นเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่สามารถพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตาและแถบชวาตะวันตก โดยมี Asinan หลากหลายประเภทที่ขายกันในอินโดนีเซีย ที่นิยมมากที่สุดได้แก่ อาซีนัน เบตาวี (Asinan Betawi) ซึ่งใช้ผักของชาวเบตาวีจากจาการ์ตา ได้แก่ ผักกาดขาว, กะหล่ำปลี, ถั่วงอก, เต้าหู้ และผักกาดหอม เสิร์ฟในซอสถั่วร้อน ๆ พร้อมน้ำส้มสายชู โรยหน้าด้วยถั่วลิสง และอาซีนัน โบกอร์ (Asinan Bogor) ซึ่งจะเป็นผลไม้ของเมืองโบโกร์ในจังหวัดชวาตะวันตก โดยจะเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ถูกนำมารองเอาไว้ เช่น มะม่วงดิบ, ชมพู่น้ำ, มะละกอ, ลูกจันทน์เทศ และสับปะรด เสิร์ฟในน้ำส้มสายชูรสเปรี้ยวหวาน และซอสพริก โรยหน้าด้วยถั่วลิสง
11. กะเรดอก (Karedok)
อาหารอินโดนีเซียเมนูผักที่มีความคล้ายคลึงกับ Pecel เป็นอย่างมาก แต่ความแตกต่างของเมนูนี้คือแทนที่จะนำเอาผักไปต้มก่อน Karedok จะเสิร์ฟด้วยวัตถุดิบผักที่สดใหม่และเป็นผักดิบทั้งหมด สลัดผักดิบในซอสถั่วลิสงที่มีถิ่นกำเนิดมาจากภูมิภาคซุนดา ในชวาตะวันตก และเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติอินโดนีเซียจานเด็ดของชาวซุนดา Karedok แบบดั้งเดิมจะประกอบไปด้วย ถั่วฝักยาว, แตงกวา, ถั่วงอก, กะหล่ำปลี, พืชตระกูลถั่ว, ใบโหระพา, ไชโป๊ว และมะเขือม่วงขนาดเล็ก ราดด้วยน้ำสลัดถั่วลิสง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นอาหารอินโดนีเซียที่มีเสิร์ฟกันในหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงยึดถือเอาไว้คือการใช้ผักดิบสด ๆ และปรุงรสด้วยน้ำสลัดที่ทำมาจากถั่วลิสง ซึ่งน้ำสลัดถั่วลิสงมักประกอบไปด้วย ถั่วลิสง, พริก, ข่า, น้ำตาลชวา, น้ำส้มสายชู และกะปิ ที่สามารถช่วยเพิ่มรสชาติให้กับผักสดได้เป็นอย่างดี
12. ปาเปดา (Papeda)
ปาเปดา (Papeda) หรือโจ๊กสาคูของอินโดนีเซีย เป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่มาจากภาคตะวันออก หนึ่งในอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่โดดเด่นที่สุดจากจังหวัดปาปัว โดยเป็นโจ๊กที่ทำมาจากแป้งสาคู อันเนื่องมาจากมีผลผลิตของข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ชาวบ้านที่นั่นจึงใช้แป้งสาคูเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแทน โดยจะนำเอาแป้งสาคูหุงกับน้ำแล้วกวนจนจับตัวเป็นก้อน จนได้เนื้อสัมผัสข้นคล้ายกาวหรือคล้ายกับแป้งเปียกบ้านเรานั่นเองค่ะ วิธีรับประทานจะใช้ตะเกียบหรือส้อมหยิบขึ้นมาแล้วม้วน ๆ เป็นก้อน ซึ่งตัวรสชาติของ Papeda นั้นมีรสจืดและเต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต จึงต้องจับคู่กับอาหารอื่น ๆ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนและช่วยเพิ่มรสชาติ โดยนิยมรับประทานคู่กับถั่ว, ผัก และซุปปลา เป็นต้น ใครอยากสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในการรับประทานอาหารอินโดนีเซีย ลองสั่งจานนี้มาชิมกันค่ะ
13. อินโดมี (Indomie)
ไม่ใช่เพียงแค่บ้านเราที่เต็มไปด้วยบะหมี่สำเร็จรูปเท่านั้น อาหารอินโดนีเซียประเภทบะหมี่สำเร็จรูปก็มีวางขายอยู่ทั่วไปเช่นกัน ซึ่งบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อยอดนิยมจนเรียกได้ว่าแทบจะเป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซีย คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของยี่ห้อ Indomie นั่นเองค่ะ ต้องบอกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนี้เป็นอาหารอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะคุณจะสามารถพบเห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ Indomie ได้ทั่วไป แม้แต่ในร้านขายของชำในสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสาร Los Angeles Times ได้มีการจัดอันดับ Indomie รสบาร์บีคิว ให้เป็น No.1 World's Best Tasting Ramen 2019 และมีวางจำหน่ายไปกว่า 88 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็มีการนำเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนี้มาขายเช่นเดียวกัน ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้กลายเป็นตัวเลือกอาหารอินโดนีเซียอันสมบูรณ์แบบ สำหรับเป็นอาหารจานด่วนหรืออาหารรองท้องยามดึกกันค่ะ
14. มิเอะ อาเจะห์ (Mie Aceh)
มาต่อกันที่เมนูอาหารอินโดนีเซียประเภทบะหมี่กันอีกสักหนึ่งเมนู บะหมี่อาเจะห์ (Mie Aceh) หรือบะหมี่เผ็ด ถือได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซียรสชาติเข้มข้นที่คุณควรลองเมื่อได้มาเยือนอินโดนีเซีย อาหารอินโดนีเซียเมนูนี้มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดอาเจะฮ์ตามชื่อกันเลยค่ะ เส้นบะหมี่ที่นำมาทำจะมีความหนา และมีปริมาณมากกว่าเมื่อเทียบกับเส้นบะหมี่ชนิดอื่น ๆ เป็นบะหมี่เส้นเหลืองคล้ายเส้นอุด้ง เสิร์ฟมาในซุปแกงกะหรี่ที่เข้มข้นเผ็ดร้อน ด้วยส่วนผสมของเครื่องเทศตามสไตล์อาหารอินโดนีเซีย มาพร้อมเนื้อต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว, เนื้อแพะ, เนื้อแกะ รวมไปถึงอาหารทะเลเช่นกุ้ง หรือปู มักโรยหน้าด้วยหอมเจียว และเสิร์ฟพร้อมถั่วลิสงคั่ว, หอมแดงฝาน, แตงกวา และมะกรูด โดยจะมีเสิร์ฟ 2 รูปแบบคือ Mie aceh goreng ที่เป็นบะหมี่ผัดแห้ง และ Mie aceh kuah ที่มาในรูปแบบของบะหมี่น้ำ
15. เกอโตปรั๊ก (Ketoprak)
อาหารอินโดนีเซียเมนูมังสวิรัติที่มีต้นกำเนิดในจาการ์ตา โดยสมาชิกคณะละครพื้นบ้านที่ชื่อ ketoprak ของชวา ได้หาอาชีพเสริมในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยการขายอาหารแผงลอยที่ทำมาจากเต้าหู้ ผสมกับถั่วงอกและซีอิ๊วหวาน จนกลายมาเป็นชื่อของเมนูอาหารอินโดนีเซียชนิดนี้ในปัจจุบัน เดิมทีเป็นอาหารริมทางที่พบได้ทั่วไปในจาการ์ตา แต่ก็ได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทั่วเกาะชวา ซึ่งผู้ขายจะทำการเตรียมส่วนผสมเอาไว้แล้วนำมาผสมให้เห็นกันต่อหน้าลูกค้าเมื่อมีการสั่งซื้อ เมนูสลัดถั่วงอกนี้มีส่วนผสมประกอบไปด้วย เต้าหู้ทอด, ข้าวนึ่ง (หลนตงหรือเกตุปัต) กะหล่ำปลี, แตงกวาสไลด์, เส้นหมี่ขาว และถั่วงอก เสิร์ฟในซอสถั่วลิสงซึ่งคล้ายกับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ แล้วโรยหน้าด้วยข้าวเกรียบกระปุกและหอมเจียว ซึ่งใครที่กลัวไม่อิ่มก็สามารถสั่งไข่ต้มเพิ่มไปด้วยได้ค่ะ
16. สบบันตู (Sop Buntut)
ประเทศต่าง ๆ ได้มีการคิดค้นสูตรซุปหางวัวที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ที่อินโดนีเซียก็เช่นกัน เมนูซุปหางวัวซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่ทำมาจากหางวัวเป็นหลัก สื่อให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวอินโดนีเซียที่ไม่ปล่อยให้วัตถุดิบสูญเปล่า ซึ่งซุปหางวัวสไตล์อินโดนีเซียนี้จะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากมีการใช้เครื่องเทศและเครื่องปรุงรสที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำจากหางวัวทอดหรือย่าง เสิร์ฟมาในน้ำซุปใสที่มีรสชาติเข้มข้น ประกอบไปด้วย มันฝรั่งต้ม, แครอท, มะเขือเทศ, ต้นหอม, ขึ้นฉ่าย, หอมเจียว และเห็ดดำแห้ง ปรุงรสด้วยกระเทียมและเครื่องเทศพื้นเมืองเช่น พริกไทยดำ, ลูกจันทน์เทศ และกานพลู ซดร้อน ๆ รับประทานคู่กับข้าวก็คล่องคอเลยทีเดียวค่ะ
17. หลนตง (Lontong)
อาหารอินโดนีเซียที่ทำมาจากเค้กข้าวอัดเป็นรูปทรงกระบอกแล้วห่อด้วยใบตอง เรียกได้ว่าเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญไม่แพ้ข้าวสวยกันเลยทีเดียว สามารถพบได้ทั่วไปทั้งในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งต้นกำเนิดของอาหารอินโดนีเซียชนิดนี้ก็มาจาก Ketupat หรือ kupat หรือข้าวต้มใบกะพ้อนั่นเองค่ะ วิธีการทำ Lontong แบบดั้งเดิม จะนำเอาข้าวที่บดแล้วมาห่อให้แน่นในใบตอง แล้วยึดด้วยไม้กลัดที่ทำมาจากทางมะพร้าว จากนั้นเอาไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 90 นาที หลนตงที่ได้จะมีผิวด้านนอกเป็นสีเขียวจากใบตอง สำหรับวิธีสมัยใหม่จะใช้ถุงผ้ามัสลินหรือถุงพลาสติก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ใบตองห่อคือตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เวลารับประทานจะหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เป็นอาหารอินโดนีเซียที่สามารถรับประทานร่วมกับซอสถั่วลิสงหรือซอสสะเต๊ะ รวมไปถึงจับคู่กับเมนูอาหารอินโดนีเซียอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย
18. เป็มเป็ก ปาเล็มบัง (Pempek Palembang)
อาหารอินโดนีเซียขึ้นชื่อของเมืองปาเล็มบังในจังหวัดสุมาตราใต้ ทอดมันปลาอินโดนีเซีย หนึ่งในอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่ไม่อยากให้พลาดค่ะ โดยทำมาจากเนื้อปลาบดแบบไม่มีก้าง และมันสำปะหลังที่ปลูกกันในพื้นที่ ผสมกับน้ำ, เกลือ และแป้งสาคู สามารถเติมน้ำมันปรุงอาหารหรือแป้งสาลีลงไปได้เล็กน้อยเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสและไม่ให้เหนียวเกินไป ว่ากันว่า Pempek Palembang ที่ดีที่สุดนั้นทำจากปลาเบลิดาหรือเบลิโด (Chitala lopis) รับประทานคู่กับซอสสีน้ำตาลเข้มที่ประกอบไปด้วย น้ำตาลปี๊บ, พริก, กระเทียม, น้ำส้มสายชู และเกลือ โดยสามารถนำไปต้ม นึ่ง หรือทอด และทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้หลากหลาย เป็นอาหารประจำชาติอินโดนีเซียอันเป็นเอกลักษณ์ และสามารถหารับประทานได้ทั่วประเทศ
19. กูเดก (Gudeg)
อาหารอินโดนีเซียแบบชวาดั้งเดิม มีต้นกำเนิดมาจากเมืองกยอกยาการ์ตาและชวากลาง โดยใช้ขนุนดิบนำมาตุ๋นร่วมกับน้ำตาลปี๊บและกะทิ พร้อมด้วยเครื่องเทศ ได้แก่ กระเทียม, หอมแดง, ถั่วเทียน, เมล็ดผักชี, ข่า, ใบกระวาน และใบสัก จนได้สีน้ำตาลแดงเข้ม มีรสชาติเข้มข้นและให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มละลายในปาก โดยสามารถเสิร์ฟเป็นอาหารมังสวิรัติจานหลัก หรือเสิร์ฟพร้อมกับไข่ไก่, ข้าวสวย หรือเมนูอาหารอินโดนีเซียประเภทไก่อื่น ๆ เช่น opor ayam, ayam goreng, เต้าหู้, เทมเป้, sambel goreng เป็นต้น ซึ่งเราสามารถพบร้านอาหารอินโดนีเซียที่เสิร์ฟ Gudeg ได้ทั่วไป และยังสามารถพบได้ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์อีกด้วย
20. กาโด-กาโด (Gado-Gado)
เป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียเพื่อสุขภาพที่ทำมาจากผักต้มหลายชนิด สลัดอินโดนีเซียแบบดั้งเดิม ที่ให้คุณได้เพลิดเพลินไปกับรสชาติอันแสนอร่อยของผักได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนประกอบโดยทั่วไปของอาหารอินโดนีเซียเมนูนี้ได้แก่ผักดิบ, ผักลวก, ผักต้ม หรือผักนึ่ง ซึ่งผักที่ใช้โดยทั่วไปคือถั่วงอก, ถั่วฝักยาว, ผักโขม, มะระขี้นก, ข้าวโพด, ฟักแม้ว, แครอท พร้อมด้วยไข่ต้ม, มันฝรั่งต้ม, เต้าหู้ทอด, เทมเป้ และหลนตง เสิร์ฟพร้อมกับน้ำสลัดถั่วลิสงหรือน้ำซอสสะเต๊ะนั่นเอง ซึ่งในปี 2018 ได้มีการส่งเสริมให้ Gado-Gado เป็นหนึ่งใน 5 อาหารประจำชาติอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีการดัดแปลงปรับปรุงสูตรให้เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตนเอง แต่มักจะเสิร์ฟคู่กับไข่ต้มอยู่เสมอ หากมีโอกาสได้มาเที่ยวอินโดนีเซียอย่าลืมหาซื้อเมนูนี้มาลองชิมกันดูค่ะ
21. เกอรัก เตอโลร์ (Kerak Telor)
อาหารอินโดนีเซียเมนูไข่เจียวรสเผ็ดแบบดั้งเดิมของชาวเบตาวี ทำมาจากข้าวเหนียวผสมกับไข่ และส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่ ขิง, ข่า, น้ำตาล, เกลือ และกระเทียม นำไปเจียวโดยไม่ใช้น้ำมันในกระทะขนาดเล็กบนเตาถ่าน เพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วถึงจนทำให้ด้านนอกของไข่เจียวสุกได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อสุกแล้วจึงคว่ำไข่เจียวลงมาจากกระทะทำให้มีรูปร่างคล้ายเปลือกหอย เป็นที่มาของชื่อเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียชนิดนี้ จากนั้นโรยหน้าด้วยหอมเจียว, กุ้งแห้ง และ Serundeng ซึ่งทำจากมะพร้าวขูดฝอย เป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียจานเด็ดที่ขาดไม่ได้ ในช่วงงานเทศกาลจาการ์ตาแฟร์ประจำปีกันเลยล่ะค่ะ
22. เรนดัง (Rendang)
เมนูเนื้อตุ๋นซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารอินโดนีเซียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก และยังได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าคือหนึ่งในเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซีย เมนูนี้มีต้นกำเนิดย้อมไปถึงในช่วงก่อนศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพ่อค้าชาวอินเดีย ที่เดินทางมายังเกาะสุมาตราตะวันตก ทำมาจากเนื้อวัวที่ปรุงให้สุกอย่างช้า ๆ ในน้ำกะทิที่เต็มไปด้วยเครื่องปรุงและเครื่องเทศจ จนกระทั่งของเหลวระเหยไปจนหมดแล้วเนื้อกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มที่เปื่อยนุ่ม ซึมซับรสชาติของเครื่องเทศและสมุนไพรเอาไว้ได้อย่างเข้มข้น ซึ่งเราสามารถมองหา Rendang กันได้ทั่วไปในร้านอาหารอินโดนีเซีย และยังเป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย
23. บักโซ (Bakso)
มากันที่อาหารอินโดนีเซียเมนูลูกชิ้นอย่าง Bakso กันค่ะ หน้าตาของอาหารประจำชาติอินโดนีเซียจานนี้คล้ายกับก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นบ้านเราอยู่พอสมควรเลยทีเดียว โดยทั่วไปแล้ว Bakso จะประกอบไปด้วยลูกชิ้น, เกี๊ยวทอด, เต้าหู้ และเต้าหู้ทอด เสิร์ฟพร้อมน้ำซุปและเส้นหมี่หรือเส้นบะหมี่สีเหลือง ซึ่งลูกชิ้นที่ใช้จะเป็นลูกชิ้นที่ทำมาจากเนื้อวัว ผสมกับแป้งมันสำปะหลังและเกลือเล็กน้อย สามารถใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ทำลูกชิ้นได้ เช่น ไก่, หมู, ปลา หรือกุ้ง แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้เนื้อวัวทำเป็นลูกชิ้น เนื่องจากชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง เราสามารถพบ Bakso ได้ทั่วไป ตั้งแต่ร้านค้าข้างทางไปจนถึงร้านอาหารมีระดับ ซึ่งในปัจจุบันก็มีในรูปแบบแช่แข็งพร้อมปรุงจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้เราสามารถหาซื้อ Bakso มาลองชิมกันได้อย่างสะดวกค่ะ
24. โซโต อายัม (Soto ayam)
ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกซึ่งเป็นอาหารอินโดนีเซียยอดนิยมที่ใช้ไก่เป็นวัตถุดิบอีกเมนูหนึ่ง โดยแบบดั้งเดิมจะใช้ หลนตง, บะหมี่ และเส้นหมี่ พร้อมกับน้ำซุปสมุนไพรที่มีขมิ้นเป็นส่วนผสมหลัก ทำให้น้ำซุปที่ได้มีสีเหลืองสวย เป็นเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งนอกจากจะใช้ไก่และเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยังสามารถเติมไข่ต้ม, มันฝรั่งทอด, ขึ้นฉ่ายจีน, หอมเจียว และใส่ท็อปปิ้งอื่น ๆ เพิ่มเติมไปอีกได้ เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง, กระเทียมเจียว, พริกซัมบัล, ข้าวเกรียบกระปุก นิยมเสิร์ฟ Lalapan หรือสลัดผักสดมาเป็นเครื่องเคียงไว้รับประทานคู่กัน นอกจากนี้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็ยังมีรูปแบบของ Soto ayam แตกต่างกันออกไป แต่รับรองได้เลยว่าเป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่สามารถหารับประทานได้ทั่วประเทศอย่างแน่นอน
25. สะเต๊ะ (Satay)
อาหารอินโดนีเซียที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เนื้อเสียบไม้หรือสะเต๊ะ เมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากเกาะชวา และแพร่หลายไปทั่วอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศแล้ว ได้รับความนิยมไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ รวมไปถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ สะเต๊ะ อะยัม (ไก่) รองลงมาคือ สะเต๊ะ คัมบิง (เนื้อแกะ) และสะเต๊ะ ดาเก็ง (เนื้อ) นอกจากนี้ยังมีการนำเอาส่วนต่าง ๆ ของไก่มาทำเป็นสะเต๊ะด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังไก่, ลำไส้ไก่, ตับไก่ รวมไปถึงสะเต๊ะที่ทำมาจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ ในท้องถิ่น โดยจะเสิร์ฟพร้อมกับซอสสะเต๊ะที่ทำมาจากถั่วลิสง เป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่ได้รับความนิยมในฐานะของอาหาร Street food แสนอร่อย ที่สามารถพบเห็นได้ทั้งตามร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงร้านอาหารหรูกันเลยทีเดียวค่ะ
26. กูไล (Gulai)
แกงเผ็ดไก่หรือ กูไล (Gulai) เมนูอาหารอินโดนีเซียที่ใช้เนื้อไก่ เคี่ยวในกะทิจนนุ่มชุ่มฉ่ำเข้าเนื้อ ต้นกำเนิดของอาหารประจำชาติอินโดนีเซียเมนูนี้มาจากเกาะสุมาตรา โดยคาดว่าเป็นการดัดแปลงมาจากแกงอินเดีย ส่วนผสมหลักของเมนูนี้ได้แก่ เนื้อไก่ หรืออาจจะใช้เป็น เนื้อแพะ, เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เครื่องใน, เนื้อปลา, อาหารทะเล รวมทั้งผัก เช่น ใบมันสำปะหลัง, ขนุนสุก และหยวกกล้วย นำมาเคี่ยวในน้ำกะทิที่ประกอบไปด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุงต่าง ๆ ตามสไตล์อาหารอินโดนีเซีย และมีการเติมขมิ้นลงไปเพื่อให้ได้น้ำแกงที่มีสีเหลืองเข้มข้นจนได้ไก่ที่เปื่อยนุ่มเข้าเนื้อไปด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุง ให้รสชาติที่นุ่มนวลหอมกรุ่นชวนน้ำลายสอกันเลยทีเดียวค่ะ
27. เปเป้ (Pepes)
ถึงแม้ว่าเปเป้ (Pepes) จะไม่ใช่ชื่อของเมนูอาหารอินโดนีเซียโดยตรง แต่ก็เป็นเทคนิคการทำอาหารประจำชาติอินโดนีเซียที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นการใช้ใบตองห่ออาหารแล้วกลัดด้วยไม้ทางมะพร้าว จากนั้นนำไปนึ่งหรือย่างบนเตาถ่าน โดยทั่วไปนิยมใช้กับการทำเมนูปลาและไก่ เพื่อให้ส่วนผสมของเครื่องเทศที่เข้มข้น ถูกบีบอัดเข้าไปกับเนื้อสัตว์และได้กลิ่นหอมของใบตองย่าง ซึ่งดูคล้ายกับการทำห่อหมกบ้านเราพอสมควรเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำ Pepes นอกจากจะเป็นเนื้อปลาและเนื้อไก่แล้ว ยังสามารถใช้กุ้ง, ปลาหมึก, เต้าหู้, เทมเป้, ออนคอม, เนื้อวัว, เห็ดหรือผักได้ตามชอบ ซึ่งในบางพื้นที่อาจใช้ขากบและไข่กบนำมาทำ Pepes กันด้วย นำมารับประทานคู่กับข้าวสวยรับรองได้เลยว่าอาจมีขอเพิ่มข้าวกันได้ค่ะ
28. เซราบี (Serabi)
อาหารอินโดนีเซียซึ่งเป็นขนมบาหลีแบบดั้งเดิม เป็นของว่างที่มีรูปร่างคล้ายกับแพนเค้ก โดยแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่จะมีรสหวาน และรับประทานคู่กับน้ำเชื่อมที่ทำมาจากน้ำตาลมะพร้าว ในอดีตถูกนำมาใช้เป็นอาหารว่างที่ใช้เป็นของบูชาในพิธีกรรมทางศาสนาของชาวชวา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อเทพเจ้าในท้องถิ่น โดยจะใช้แป้งข้าวเจ้า, กะทิ และน้ำตาลมะพร้าว นำไปปรุงในกระทะดินเผาขนาดเล็กบนเตาถ่าน บางครั้งอาจใส่น้ำใบเตยลงไปเพื่อทำให้กลายเป็นสีเขียวสวย และอาจมีการเพิ่มท็อปปิ้งลงไปในระหว่างการปรุงเช่น น้ำตาล, เนื้อมะพร้าวขูด, ถั่วลิสงบดหยาบ, กล้วย, ขนุน, ช็อกโกแลต, ชีส, ไส้กรอก และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมี Serabi แบบเผ็ดที่จะใช้ออนคอม (Oncom) มาเป็นส่วนผสม ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของอินโดนีเซียก็มีการปรุง Serabi แตกต่างกันออกไปตามแต่วัตถุดิบที่มีอยู่กันค่ะ
29. เทมเป้ โกเรง (Tempeh Goreng)
เทมเป้เป็นหนึ่งในอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเมนูเทมเป้ โกเรง (Tempeh Goreng) ก็คือหนึ่งในอาหารอินโดนีเซียยอดนิยมด้วยเช่นกัน หนึ่งในวิธีที่ง่ายและดีที่สุดในการปรุงเทมเป้ คือการนำไปทอดในน้ำมันปรุงอาหารที่ร้อนฉ่าจนได้สีเหลืองทองกรอบนอกนุ่มใน ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย โดยเทมเป้นั้นเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่ทำมาจากถั่วเหลืองหมัก อาหารอินโดนีเซียแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยใยอาหารและวิตามิน รสชาติจะยิ่งเด่นชัดเมื่อมีการหมักที่นานขึ้น และแน่นอนว่าหากให้พูดถึงอาหารอินโดนีเซียยอดนิยม หนึ่งในนั้นคือเมนูเทมเป้ทอดอย่างแน่นอนค่ะ
30. เปเซล เลเล่ (Pecel Lele)
ปิดท้ายอาหารอินโดนีเซียกันที่เมนูปลาดุกทอด ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย เมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียจานนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และสามารถพบเห็นได้ตามร้านเต็นท์ (Warung) ริมถนนในเมืองต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วยปลาดุกทอดทั้งตัวที่เสิร์ฟมาพร้อมกับเทมเป้ทอด, เต้าหู้, ข้าวสวย, ผักสด และซอสถั่วลิสงหรือซอสพริกซัมบัล เป็นเมนูอาหารอินโดนีเซียที่มีราคาย่อมเยาและอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ และยังเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียอีกด้วย
ต้องยอมรับเลยว่าอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศที่มีอาหารรสเลิศอยู่มากมาย ซึ่งนอกเหนือจาก 30 เมนูอาหารอินโดนีเซียที่เราได้คัดเลือกมาฝากกันแล้ว ยังมีเมนูอาหารประจำชาติอินโดนีเซียอีกหลายอย่าง ที่รอให้คุณได้สัมผัสรสชาติของอาหารอินโดนีเซียเมนูต่าง ๆ ด้วยตัวคุณเอง ถึงแม้ว่าบางเมนูอาจจะทำเองได้ไม่ยากหรือหากินได้ในบ้านเรา แต่การไปลองชิมอาหารสูตรต้นตำรับกันถึงถิ่นนั้น เป็นประสบการณ์ที่อะไรก็มาทดแทนไม่ได้เลยจริง ๆ ค่ะ